เราได้รู้จักทางเลือกการลงทุนกันไปแล้ว แต่ช้าก่อน ก่อนที่เราจะเริ่มต้นการลงทุน เราควรจะมาเรียนรู้กันก่อนว่า เงินของเรานั้นสามารถนำไปลงทุนในสินค้าการเงินอะไรได้บ้าง ระดับความเสี่ยงเป็นอย่างไร ผลตอบแทนของการลงทุนในแต่ละแบบเป็นเช่นไร เพื่อที่เราจะได้จัดสรรเงินของเราไปลงทุนในสินค้าการเงินแต่ละส่วนได้อย่างเหมาะสมตามต้องการ และสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่คุณรับได้ด้วยค่ะ
สินทรัพย์ทางการเงิน หากจัดตามระดับความเสี่ยงแล้ว สามารถแบ่งได้เป็น
8 ประเภท เรียงตามระดับความเสี่ยงต่ำ ไปจนถึงระดับความเสี่ยงสูง ได้ดังนี้
1. เงินฝากและกองทุนรวมตลาดเงินที่ลงทุนในประเทศ
เงินฝากอันนี้ง่ายๆ ค่ะ ชัดเจนก็คือ เงินที่เรานำไปฝากไว้กับธนาคาร สิ่งที่จะได้รับตอบแทนจากการฝากเงินที่ธนาคารก็คือ ดอกเบี้ย แล้วแต่ทางธนาคารจะกำหนด นอกจากนี้หากเราลงทุนผ่านกองทุนรวม เราจะเรียกกองทุนรวมนี้ว่า "กองทุนรวมตลาดเงิน"
กองทุนรวมตลาดเงิน ก็คือ กองทุนที่ไปลงทุนในตราสารเงิน เช่นเงินฝาก ตั๋วเงินต่างๆ ตราสารหนี้ที่มีคุณภาพและมีกำหนดชำระเงินต้นเมื่อทวงถามหรือมีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปีนั่นเอง ซึ่งการลงทุนในแบบนี้ จะเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด (ระดับความเสี่ยง 1) และมีสภาพคล่องสูง อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนน้อยมาก เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 0.50 – 2% ซึ่งไม่ชนะเงินเฟ้อค่ะ
2. กองทุนรวมตลาดเงินที่ลงทุนในต่างประเทศบางส่วน
การลงทุนในข้อนี้ก็จะคล้ายกับข้อที่ 1 แตกต่างกันตรงที่มีการลงทุนในตราสารเงินต่างประเทศผสมเข้าไปด้วย ทำให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตามก็จะมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเข้ามา ทำให้การลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงินที่ลงทุนในต่างประเทศบางส่วนมีความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วยค่ะ (ระดับความเสี่ยง 2)
3.ตราสารหนี้ประเภทพันธบัตรรัฐบาล
ตราสารหนี้คือ ตราสารทางการเงินที่แสดงความเป็นหนี้ระหว่างกัน เหมือนสัญญาการกู้ยืมทางกฎหมายที่มีข้อตกลงที่ชัดเจน เช่น จะมีการจ่ายดอกเบี้ย หรือเงินต้นตามระยะเวลาที่กำหนด
ถ้าเป็นภาครัฐบาล ถ้าจะมีการลงทุนในโปรเจ็คท์ใหม่ๆ เงินทุนที่รัฐบาลจะสามารถหามาใช้ได้ก็มี 1. ภาษี 2. กู้จากสถาบันทางการเงิน และ 3. กู้จากประชาชน ซึ่งการกู้จากประชาชนนี่เอง รัฐบาลจะออกเป็นตราสารหนี้มาให้ เป็นสัญญากู้ยืมระหว่างรัฐบาล (ผู้กู้) กับประชาชน (ผู้ให้กู้) ซึ่งเราเรียกว่า พันธบัตรรัฐบาล (Government Bond)
4. ตราสารหนี้ประเภทหุ้นกู้
ส่วนถ้าเป็นภาคเอกชน บริษัทต่างๆ ถ้าจะขยายการลงทุน ต้องการเงินลงทุนเพิ่ม ภาคเอกชนสามารถหาได้จาก 1. กำไรสะสมของกิจการ 2. กู้สถาบันทางการเงิน 3. ขายหุ้นเพิ่มทุน และ 4. กู้จากประชาชน
โดยการกู้จากประชาชนของภาคเอกชน จะออกมาในรูปแบบตราสารหนี้เหมือนกัน แต่เราจะเรียกว่า หุ้นกู้ (Debenture) ขอสรุปอีกที ตราสารหนี้คือ สินทรัพย์ทางการเงินชนิดหนึ่งที่ทำให้เรามีสถานะเป็นเจ้าหนี้ ถ้าลูกหนี้เป็นรัฐบาล ตราสารหนี้นั้นจะเรียกว่า พันธบัตรรัฐบาล แต่ถ้าลูกหนี้เป็นเอกชน ตราสารหนี้นั้นจะเรียกว่า หุ้นกู้ เนื่องจากรัฐบาลมีความมั่นคงกว่าบริษัทเอกชน ทำให้พันธบัตรรัฐบาลจะมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่าหุ้นกู้ โดยที่พันธบัตรรัฐบาลจะมีระดับความเสี่ยง 3 ส่วนหุ้นกู้จะมีระดับความเสี่ยง 4
นักลงทุนสามารถลงทุนในตราสารหนี้โดยตรงหรือจะลงทุนผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ก็ได้ค่ะ หากลงทุนทางตรงด้วยการซื้อพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้ ผลตอบแทนที่เราจะได้รับ คือ ดอกเบี้ยที่ผู้ออกตราสารหรือลูกหนี้ ตกลงจะมอบให้ตลอดระยะเวลาที่ถือตราสารหนี้นั้น
หากลงทุนผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ ผลตอบแทนที่คุณจะได้จากการลงทุน จะไม่ใช่ดอกเบี้ยแล้วนะคะ แต่จะอยู่ในรูปของเงินปันผลแทน (ซึ่งต้องไปดูนโยบายการลงทุนเพิ่มเติมด้วยว่า กองทุนตราสารหนี้ที่คุณลงทุนอยู่นั้น มีนโยบายจ่ายเงินปันผลหรือไม่) นอกจากเงินปันผลแล้ว คุณยังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนในรูปของ กำไรจากส่วนต่างราคาด้วยเช่นกัน หากมูลค่าของกองทุนรวมตราสารหนี้ที่คุณลงทุนนั้น มีมูลค่าเพิ่มขึ้น
ข้อดีของสินทรัพย์ประเภทนี้ คือ ได้ดอกเบี้ยตลอดระยะเวลา (ได้รับรายได้สม่ำเสมอ) แล้วแต่ทางลูกหนี้จะกำหนดว่า จะจ่ายทุกๆ รอบใด 1 ครั้งต่อปีหรือ 2 ครั้งต่อปี เป็นต้น ได้ดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนที่สูงขึ้น เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3 - 4% อย่างไรก็ตามผลตอบแทนก็ยังถือว่าน้อยพอๆ กับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย (ไม่ชนะเงินเฟ้อ)
สำหรับสินทรัพย์ทางการเงินอีก 4 ประเภทที่เหลือ คงต้องติดตามต่อในตอนต่อไป แล้วพบกันค่ะ ^^
ผู้เขียน นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP
นักวางแผนการเงินอิสระ วิทยากร และนักเขียน