มาถึงตอนนี้ เราก็ได้รู้จักกับสินทรัพย์ทางการเงินกันไปแล้ว 6 ประเภท ได้แก่ เงินฝาก กองทุนรวมตลาดเงิน พันธบัตรหุ้นกู้ กองทุนผสม และหุ้นสามัญเรียงจากความเสี่ยงต่ำไปถึงความเสี่ยงสูง ตอนนี้เราจะมาทำความรู้จักกับอีก 2 ประเภทสุดท้ายที่เหลือกันค่ะ ดังนี้
7. การลงทุนเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม
การลงทุนเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมจะเป็นการลงทุนในหุ้น หรือกองทุนรวมในหุ้นโดยลงทุนเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม หรือ Sector Fund เช่น ลงทุนเฉพาะ Sector พลังงานหรือธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงกว่าการลงทุนในหุ้นหรือกองทุนหุ้นทั่วไป เนื่องจากเป็นการลงทุนที่มีนโยบายการลงทุนเฉพาะใน Sector ที่กำหนดเอาไว้เท่านั้น
ดังนั้นแม้จะเป็นการลงทุนในตราสารทุนเป็นหลัก แต่ก็ลงเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม ทำให้ไม่มีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ระดับความเสี่ยงของการลงทุนจึงอยู่ที่ระดับ 7 ซึ่งเสี่ยงกว่าการลงทุนในตราสารทุนนั่นเอง ดังนั้นนักลงทุนที่จะเลือกลงทุนในหุ้นหรือกองทุนแบบ Sector Fund จึงควรมีความรู้ความเข้าใจให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงด้วยค่ะ
8. สินทรัพย์ทางเลือก
สินทรัพย์ทางเลือก หรือ Alternative Investments หมายถึงการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น ที่นอกเหนือไปจากสินทรัพย์พื้นฐานหรือที่เป็นประเพณีนิยมของการลงทุน (traditional assets) ไม่ว่าจะเป็นหุ้นสามัญที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชนที่ผู้ออกมีถิ่นฐานในประเทศไทย ที่นิได้เล่าไปแล้วข้างต้น เป็นต้น
สินทรัพย์ประเภทอื่นๆ เหล่านี้เรียกว่า สินทรัพย์ทางเลือก (alternative assets) ซึ่งสามารถแบ่งประเภทย่อยได้ดังนี้
- การลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investments) ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในตราสารทุนหรือตราสารหนี้ ทั้งในตลาดโลกหรือเฉพาะเจาะจงในกลุ่มประเทศ ซึ่งทำให้พอร์ตมีผลตอบแทนและความเสี่ยงสองด้านคือภาวะตลาดทุนในต่างประเทศ และการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน
- อสังหาริมทรัพย์ (Real Estate) เช่น ที่ดินเปล่า บ้านให้เช่า คอนโดมิเนียม หรือหน่วยลงทุนที่ลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ให้ผลตอบแทนในรูปส่วนต่างราคา ค่าเช่า ภาษี หรือเงินปันผล แต่ผู้ลงทุนต้องตระหนักถึงความเสี่ยงเรื่องสัญญา กฎหมาย และสภาพคล่อง
- สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) เช่น ทองคำ น้ำมัน สินค้าเกษตร จะมีการเคลื่อนไหวของราคาตามอุปสงค์อุปทานในตลาดโลก และนั่นหมายความว่าผู้ลงทุนจะรับความเสี่ยงอันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศหลักๆ ในโลกเช่นกัน
- ของสะสม (Collectibles) เช่น วัตถุโบราณ ภาพเขียน เหรียญ แสตมป์ และอื่นๆ จะให้ผลตอบแทนในรูปของส่วนต่างราคาซึ่งอาจจะสูงมาก และยังทำให้เกิดความพึงพอใจต่อผู้เป็นเจ้าของอีกด้วย แต่ความเสี่ยงที่สำคัญมาจากการขาดมูลค่าที่แท้จริงเพื่อใช้ตัดสินใจลงทุน เนื่องจากราคาซื้อขายสินค้าเหล่านี้จะสูงหรือต่ำนั้นขึ้นอยู่กับความชอบส่วนบุคคล อีกทั้งยังขาดสถาบันที่เป็นกลางในการประเมินราคา
- การลงทุนที่มีความซับซ้อน เช่น หน่วยลงทุนของกองทุนประเภทเฮดจ์ฟันด์ (สำหรับผู้ลงทุนนอกประเทศไทย) และ Private Equity เป็นต้น ให้ผลตอบแทนในระดับที่ค่อนข้างสูงแม้ในภาวะตลาดถดถอย และสามารถเลือกสไตล์การลงทุนที่ต้องการได้ แต่ก็มีความเสี่ยงสูงมากในเรื่องกฎระเบียบที่จะมาใช้ควบคุมกองทุน ความโปร่งในของการเปิดเผยข้อมูล ค่าธรรมเนียมแพง และมีสภาพคล่องต่ำ
ข้อดีของสินทรัพย์ประเภทนี้
- ลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน ในกรณีที่พอร์ตการลงทุนมีสินทรัพย์พื้นฐานจำพวกหุ้นและตราสารหนี้อยู่แล้ว การเพิ่มสินทรัพย์ทางเลือกเข้ามาจะช่วยในเรื่องการกระจายความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี เนื่องจากสินทรัพย์ทางเลือกมีการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนไม่ค่อยจะสัมพันธ์กับสินทรัพย์พื้นฐานมากนัก หรืออาจเคลื่อนไหวในทิศทางตรงข้าม ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้สินทรัพย์ประเภทหนึ่งมีราคาลดลงแล้ว ราคาของสินทรัพย์ทางเลือกจะไม่ได้ปรับตัวลดลงตามอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ผลตอบแทนโดยรวมในพอร์ตมีความเสถียรมากกว่าการลงทุนสินทรัพย์ไม่กี่ประเภท
- มีโอกาสได้รับอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้น การมีขอบเขตการลงทุนหรือ investment universe ที่กว้างขึ้น จะเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนสามารถปรับเปลี่ยนน้ำหนักการลงทุนระหว่างสินทรัพย์ประเภทต่างๆ หรือที่เรียกว่า tactical asset allocation ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น เมื่ออัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ผู้ลงทุนอาจลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ และเพิ่มสัดส่วนสินค้าโภคภัณฑ์เป็นการชั่วคราวเช่น 6 เดือนหรือ 1 ปี เป็นต้น
- การป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ โดยทั่วไป ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันหรือสินค้าเกษตร และอสังหาริมทรัพย์ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อขึ้นได้ ดังนั้น การลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกประเภทนี้ จะช่วยป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อได้เนื่องจากราคาสินทรัพย์ที่ถืออยู่จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกับอัตราเงินเฟ้อนั่นเอง
อย่างไรก็ตามข้อเสียของสินทรัพย์ประเภทนี้ คือ ความเสี่ยงสูงมาก ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน ต้องศึกษาการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกในแต่ละประเทศให้ถ่องแท้เสียก่อน
ผู้เขียน นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP
นักวางแผนการเงินอิสระ วิทยากร และนักเขียน