ก่อนจะลงทุน เราต้องรู้อะไรบ้าง มาหาคำตอบที่บทความนี้กันค่ะ
จุดเริ่มต้นในการวางแผนการลงทุน เริ่มจาก “รู้จักตัวเอง” คุณควรถามตัวเองให้แน่ใจก่อนว่า “เป้าหมาย” การลงทุนของคุณคืออะไร เช่น ลงทุนเพื่อบั้นปลายชีวิต เพื่อลดหย่อนภาษี เพื่อเอาชนะเงินเฟ้อ เพื่อทำกำไรหรือเพื่อทำตามความฝัน
จากนั้นค่อยพิจารณา “เงื่อนไข” ในการลงทุน ว่าคุณรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน ต้องการผลตอบแทนเท่าไหร่ มีเงินลงทุนมากน้อยเพียงใด เงินนั้นเป็นเงินเย็น (ที่ไม่ใช่ เงินเยน) หรือไม่ หรือมีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาอย่างไร เพราะสิ่งเหล่านี้แหละค่ะที่จะตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดีว่า ทางเลือกการลงทุนแบบไหนที่จะเหมาะสมกับคุณมากที่สุดค่ะ
เมื่อรู้จักตัวเองมากขึ้นแล้ว เรื่องถัดมาที่เราต้องมาทำความรู้จักก็คือ “รู้จักเครื่องมือ” คำว่า “เครื่องมือ” ในที่นี้หมายถึง “ทางเลือกในการลงทุน” นั่นเองค่ะ ซึ่งนิได้เล่าถึงทางเลือกของการลงทุนไปใน EP ต้นๆ ตั้งแต่เปิดโลกการลงทุนมาแล้วล่ะค่ะ
เพื่อให้ทุกท่านได้เห็นว่า ทุกวันนี้มีทางเลือกในการลงทุนหลากหลายประเภท ทั้งหุ้นสามัญ พันธบัตร หุ้นกู้ กองทุนรวม ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ และอื่นๆ อีกมากมาย แถมแต่ละประเภทต่างก็มีรายละเอียดและความซับซ้อนที่แตกต่างกันออกไปอีกต่างหาก
ยกตัวอย่างเช่น คุณมีเงินลงทุนอยู่ก้อนหนึ่ง อยากได้ผลตอบแทนสูงหน่อย รับความเสี่ยงได้เยอะเพราะอายุแค่ 28 ปี ถ้าโจทย์เป็นแบบนี้ “หุ้น” หรือ “กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้น” ก็อาจเป็นคำตอบของคุณ แต่ถ้าคุณบอกว่าอยากเสี่ยงน้อยหน่อย ผลตอบแทนไม่ต้องสูงมากก็ได้ “พันธบัตร” หรือ “หุ้นกู้” ก็อาจจะเหมาะกับคุณมากกว่า เป็นต้น
แต่เหนือสิ่งอื่นใด โจทย์ ความชื่นชอบและระดับความเสี่ยงที่รับได้ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เอาเป็นว่า เลือกลงทุนในแบบที่คุณพอใจก็แล้วกันเพราะนั่นคือเงินของคุณ คุณจึงต้องใส่ใจในทุกรายละเอียดค่ะ
สุดท้าย นอกจากรู้จักตัวเองและรู้จักเครื่องมือในการลงทุนแล้ว ก็
ต้อง “รู้จักจังหวะลงทุน” ด้วย เพราะการรู้และเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเมือง สังคม จิตวิทยามวลชน หรือปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อทิศทางการลงทุนจะทำให้คุณสามารถกำหนดกลยุทธ์การลงทุนในภาวะตลาดที่แตกต่างกัน รวมถึงสามารถโยกย้าย เงินลงทุนไปยังทางเลือกอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างเหมาะสมด้วย
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ลืมไม่ได้เลย ก็คือ
‘ในโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี’ ดอกผลจากการลงทุนที่งอกเงยมากกว่าเงินฝาก จึงมาพร้อมกับ
“ความเสี่ยง” ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคุณสามารถจัดการกับความเสี่ยงเหล่านี้ได้ด้วยการ
“จัดสรรเงินลงทุน” (Assets Allocation) ไปในทางเลือกการลงทุนหลายๆ ประเภท ดังกฎเหล็กการลงทุนที่ว่า
ซึ่งบรรดาผู้ลงทุนทั้งหลาย ทั้งผู้ลงทุนชั้นเซียนหรือมือใหม่น่าจะคุ้นเคยกันดีและท่องจำได้ขึ้นใจ เพราะไม่ว่าจะตำราหรือคัมภีร์ลงทุนเล่มไหนก็ย้ำนักย้ำหนาว่าให้
“กระจายความเสี่ยง” (Diversification)
เหตุผลที่ไม่ควรทุ่มเงินไปกับการลงทุนประเภทใดประเภทหนึ่งมากเกินไป เพราะหากผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ คุณอาจสูญเสียเงินทั้งหมดในคราวเดียวกัน
แต่หากคุณรู้จักจัดสรรการลงทุนอย่างเหมาะสม โดยพิจารณาถึงความสัมพันธ์และทิศทางการขึ้นลงของราคาที่แตกต่างกัน การขาดทุนจากการลงทุนประเภทหนึ่ง อาจถูกชดเชยด้วยกำไรจากการลงทุนอีกประเภทหนึ่ง
ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงได้แล้ว ยังช่วยให้คุณได้รับผลตอบแทนรวมที่ไม่ขี้เหร่จนเกินไปด้วยค่ะ
ทุกวันนี้มีผู้ลงทุนจำนวนไม่น้อยที่มุ่งมั่นกระจายความเสี่ยงอย่างตั้งอกตั้งใจและจริงจังจนล้ำเส้นความพอดี มีหุ้นตัวเล็กตัวน้อยซุกไว้จนนับไม่ถ้วน หรือหว่านซื้อกองทุนเยอะเป็นดอกเห็ด แทนที่จะช่วยกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้ กลับกลายเป็นไม่สามารถดูแลพอร์ตได้อย่างทั่วถึง และอาจส่งผลร้ายกับเงินลงทุน ทางที่ดีควรเดินบนทางสายกลาง หาความพอดิบพอดีให้พอร์ตการออมและการลงทุนของตัวคุณเอง เพียงแค่นี้ก็ช่วยกรองความเสี่ยงได้ระดับหนึ่งแล้ว
ฝากทิ้งท้ายไว้อีกนิดนะคะกับประโยคยอดฮิตที่ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน”
ผู้เขียน นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP
นักวางแผนการเงินอิสระ วิทยากร และนักเขียน