เมื่อในกรุงเทพเริ่มมีการกระจุกตัวของคอนโดมากขึ้นเรื่อยๆ และทยอยหนาแน่นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงราคาที่สูงเอ้าสูงเอา คือสามารถได้บ้านเดี่ยวชานเมืองสักหนึ่งหลังเลยหล่ะ
แน่นอนว่าบางคนอาจมีงบไม่ถึงขนาดนั้น ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง เลยทำให้คนพุ่งเป้ามาเลือกคอนโดที่ย่านชานเมืองแทน แต่ยังไงก็ตามเราต้องดูให้รอบคอบเพื่อไม่ให้หมด passion กับคอนโดชานเมืองได้ง่ายๆ
ทำเลที่ตั้ง
พอมาอยู่ชานเมืองแล้วถ้าเป็นไปได้คืออยากให้เลือกคอนโดที่อยู่ใกล้รถไฟฟ้ามากที่สุด ยิ่งติดแบบ 0 เมตร ยิ่งดี
เพราะการเลือกแบบนี้เราจะได้ของแถมอย่างการอยู่ติดถนนใหญ่เพิ่มมาด้วย ซึ่งจะยิ่งทำให้การเดินทางของเราไปในที่ต่างๆ ได้สบายมากกว่าเดิม
หรือถ้าไม่สามารถเลือกทำเลใกล้รถไฟฟ้าได้ขนาดนั้น ก็ควรมีระยะห่างไม่เกิน 300 เมตร ให้อยู่ในระยะพอเดินไหว แต่ที่สำคัญคือควรติดถนนใหญ่ไว้ก่อน
เหตุผลคือเมื่อเราเล็งที่จะอยู่ชานเมือง ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าไปในซอยลึกลับให้วุ่นวายแล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อความง่ายและร่นระยะเวลารวมถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทางยังไงล่ะ (ค่าวิน ค่ารถเมล์ ค่าสองแถว บลาๆๆ)
แต่ยังมีอีกหนึ่งความเจริญที่ถือว่าเป็นทำเลที่ดีเหมือนกัน นั่นคือการอยู่ใกล้ห้างสรรพสินค้า ตลาด โรงเรียน โรงพยาบาล บริษัทต่างๆ นั่นเองงงง
และที่สำคัญสุดๆ ในเรื่องของทำเลคือ การมีสายตาที่กว้างไกลมองเห็นถึงอนาคตของทำเลนั้นๆ ว่าจะมีแนวโน้มไปในทิศทางไหนได้อีก หรือจะมีความเจริญใดๆ เข้ามาอีกไหม
พูดง่ายๆ ว่ายิ่งอาศัยใกล้สิ่งอำนวยความสะดวกมากเท่าไหร่ย่อมเป็นผลดีกับเราเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการอยู่เอง เรื่องปล่อยเช่า หรือการเก็งกำไรในอนาคต
โครงการต้อง Very Good!!!
แม้ว่าเราจะตัดสินใจเลือกคอนโดชานเมือง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราต้องได้ของที่ไม่ดี ถูกไหม? ฉะนั้นเราต้องดูด้วยว่าโครงการแต่ละที่เป็นยังไงบ้าง
เริ่มตั้งแต่จำนวนยูนิต มีมากน้อยแค่ไหน ต่อชั้นมีกี่ยูนิต แออัดเกินไปรึเปล่า ขณะที่การออกแบบของห้องควรใช้งานได้จริง แบ่งสัดส่วนลงตัว
วัสดุที่ให้มาแต่ละอย่างก็ต้องไม่ก๊องแก๊งมีความแข็งแรงทนทาน เคาน์เตอร์ครัว ห้องน้ำ ประตู หน้าต่าง ผนัง พื้นเช็คให้ละเอียด
ต่อด้วย Facility ต่างๆ ซึ่งตรงนี้เราว่าไม่ค่อยน่าห่วงเพราะโครงการส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับตรงนี้เป็นอย่างมาก คือจัดเต็มมาให้เรียบร้อย แต่ก็ห้ามมองข้าม
อีกหนึ่งพ้อยท์สำคัญคือเรื่องที่จอดรถ ที่ถึงแม้เราจะเลือกทำเลใกล้รถไฟฟ้า แต่ใช่ว่าลูกบ้านแต่ละยูนิตจะไม่มีรถ อย่างน้อยก็ครึ่งหนึ่งอ่ะ
ดังนั้นให้ดูด้วยว่าจอดรถได้กี่เปอร์เซ็นต์ กี่คัน รวมซ้อนคันยัง ซึ่งถ้าจอดได้เกิน 50% จะดีมาก
ราคาย่อมเยา
ทั้งหมดจะมาจบตรงราคานี่แหละ ซึ่งชัวร์อยู่แล้วว่าราคาต้องจับต้องได้เอื้อมถึง เพราะถ้าแพงเท่าในเมืองแล้วเราจะมาอยู่ชานเมืองทำไม 55555
โดยให้เราเปรียบเทียบราคาเป็นต่อตารางเมตร อย่างสมมติว่าโครงการหนึ่งราคา 1.99 ลบ. แต่เริ่มที่ขนาดห้อง 24 ตร.ม. ขณะที่อีกโครงการราคา 2.6 ลบ. แต่เริ่มที่ขนาดห้อง 35 ตร.ม.
ถ้ามองเผินๆ คือ 1.99 ลบ. ราคาถูกกว่า แต่พอเทียบตารางเมตรกลับเป็นอีกโครงการที่ราคาถูกกว่าด้วยซ้ำ (1.99 ลบ. ตกตร.ม.ละ 79,000 บาท ส่วน 2.6 ลบ. ตกตร.ม. 74,000 บาท) ขณะเดียวกันก็ต้องดูถึงค่าส่วนกลาง Facility ของที่ได้ และส่วนอื่นๆ ของโครงการประกอบด้วยนะ
เหนือสิ่งอื่นใดควรเปรียบเทียบในสิ่งแวดล้อมละแวกที่ใกล้เคียงกันนะจ๊ะ ไม่ใช่อีกคอนโดวิวเมือง อีกคอนโดวิวแม่น้ำ หรืออีกแห่งใกล้เมืองอีกแห่งไกลเมืองมากกว่า ราคามันก็ย่อมต่างกันเป็นธรรมดาอยู่แล้ววววว
ส่วนตัวมองว่าถ้าในปี 2018 ราคาคอนโดย่านชานเมืองไม่ควรแตะถึง 1 แสนบาทด้วยซ้ำ (ต่อตารางเมตรนะ) 90,000 บาท ก็แทบมองข้ามละอ่ะ (แต่ถ้าติดวิวแม่น้ำก็อาจจะอีกเรื่องหนึ่งนะ ฮ่าๆๆ)
อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่มีบัดเจทไม่มาก และไม่อยากอยู่บ้านหลังใหญ่คนเดียว การเลือกอยู่คอนโดชานเมือง น่าจะเป็นตัวช่วยที่ดี เพราะนอกจากจะดูแลรักษาง่ายแล้ว ยังทำให้เรากู้กับธนาคารได้ผ่านฉลุยมากกว่าในเมือง อีกทั้งถ้าเราตาแหลมเลือกได้ดี ในอนาคตคอนโดนั้นอาจสร้างกำไรให้เราก็เป็นได้ใครจะรู้ล่ะเนอะ คิคิ