เน็กซัสสรุปภาพรวมตลาดอสังหากรุงเทพปี 61
ตลาดคอนโดเริ่มมีการปรับตัวเพื่อตอบสนองเรียลดีมานด์ ในขณะที่ตลาดเช่าเพื่อการพาณิชย์ค่าเช่าทำสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์
เน็กซัสสรุปปีนี้ราคาเฉลี่ยคอนโดในกรุงเทพเพิ่มขึ้น 7.6% ในขณะที่ราคาคอนโดใจกลางเมืองเพิ่มถึง 10% คาดในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ผู้ประกอบการควรเน้นการพัฒนาเพื่อเรียลดีมานด์ ส่วนราคาค่าเช่าสำนักงานเกรดเอในย่านศูนย์กลางธุรกิจเฉลี่ยทะลุ 1,000 บาท/ตารางเมตร/เดือน ในขณะที่ราคาค่าเช่าพื้นที่ศูนย์การค้าเฉลี่ยสูงถึง 3,900 บาท/ตารางเมตร/เดือน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีก ในปีหน้าตลาดอาคารสำนักงานให้เช่าและตลาดศูนย์การค้ามีการแข่งขันสูงขึ้นแน่นอน ถือว่าเป็นแนวโน้มที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง
ตลาดคอนโดมิเนียม
นางนลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (Mrs. Nalinrat Chareonsuphong, Managing Director of Nexus Property Marketing Company Limited) เผยว่า ปี 2561 ยังคงเป็นปีที่มีอุปทานของคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้นในตลาดในจำนวนที่ค่อนข้างสูง จากทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อย
โดยมีคอนโดมิเนียมเกิดขึ้นใหม่ 60,900 หน่วย จาก 138 โครงการ ซึ่งทำให้คอนโดมิเนียมมีหน่วยสะสมทั้งสิ้น 610,900 หน่วย ทำเลที่นิยมในการพัฒนาโครงการอันดับหนึ่งยังคงเป็นพญาไท รัชดา และ พหลโยธิน (21,100 หน่วย, 35%)
ตามมาด้วย พระโขนง สวนหลวง (13,500 หน่วย, 22%) และ ธนบุรี เพชรเกษม (8,500 หน่วย, 14%) ตามลำดับ และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาทั้ง 3 ทำเลนี้ก็มีอัตราการเพิ่มของอุปทานมากที่สุดโดยมากกว่า 65-70% เลยทีเดียว ซึ่งก็มีสาเหตุมาจากกระแสการอยู่อาศัยคอนโดใกล้รถไฟฟ้าที่มีมาอย่างต่อเนื่องนั่นเอง และในทำเลเหล่านี้ก็ยังคงหาที่ดินที่จะพัฒนาได้มากกว่าทำเลที่อยู่ในใจกลางเมือง
นอกจากนี้ หากจะวิเคราะห์ถึงอุปทานใหม่ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาจะพบว่า 41% ของจำนวนหน่วยทั้งหมดจะมาจากตลาดไฮเอนด์ ที่มีระดับราคาอยู่ที่ 110,000 -190,000 บาทต่อตารางเมตร ราคาต่อหน่วย 4-8 ล้านบาท ตามมาด้วยตลาดระดับกลาง (mid market) 27% และตลาดซิตี้คอนโด 21%
ซึ่งสัดส่วนดังกล่าว อาจดูไม่สอดคล้องกับรายได้และฐานเงินเดือนของคนกรุงเทพมากนัก โดยจากปัจจัยที่ดินที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องหันมาพัฒนาสินค้าในระดับราคาที่สูงขึ้นนั่นเอง
ในปี 2561 ยอดขายคอนโดมิเนียมในตลาดกรุงเทพรวมทั้งสิ้นจำนวน 52,000 หน่วย โดยแบ่งเป็นห้องชุดที่เปิดใหม่ในปี 2561 จำนวน 31,800 หน่วย (คิดเป็นยอดขายเฉลี่ยของห้องชุดที่เปิดใหม่อยู่ที่ 52%) และห้องชุดที่เปิดขายก่อนปี 2561 มียอดขายเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 20,300 หน่วย
ทั้งนี้จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นทั้งคอนโดมิเนียมเปิดใหม่ในปีนี้และที่เปิดมาก่อนหน้านี้ทำให้อัตราขายรวมในตลาดอยู่ที่ 90% และยังคงมีห้องชุดเหลือขายในตลาดอยู่อีก 62,700 หน่วย
ในปี 2561 ราคาขายคอนโดมิเนียมเฉลี่ยในตลาดปรับตัวสูงขึ้น 7.6% จาก 130,600 บาทต่อตารางเมตร เป็น 140,600 บาทต่อตารางเมตร โดยตลาดใจกลางเมืองปรับตัวเพิ่มสูงสุดอยู่ที่ 10% ไปอยู่ที่ 231,000 บาทต่อตารางเมตร ตลาดรอบใจกลางเมือง 7% ไปอยู่ในระดับราคา 113,200 บาทต่อตารางเมตร ในขณะที่ตลาดรอบนอกปรับราคาเพิ่มเฉลี่ยเพียง 1% เป็น 73,500 บาทต่อตารางเมตร เท่านั้น
สำหรับแนวโน้มการปรับตัวขึ้นของราคาคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ เริ่มเห็นการปรับตัวขึ้นในอัตราที่ลดลงบ้าง ซึ่งก็น่าจะเกิดจากการที่ผู้ประกอบการเริ่มเห็นแนวโน้มราคาที่ปรับตัวสูงมากในตลาดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เช่นในปี 2561 ทำเลหลังสวนปทุมวัน ราคาปรับขึ้นเพียง 3% หรือในโซนธนบุรี เพชรเกษมเองซึ่งเป็นทำเลที่มีขอบเขตค่อนข้างกว้างมาก ราคาก็ปรับเพิ่มเพียง 1% แต่ไม่ได้หมายความว่าสินค้าคุณภาพดีขึ้นที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้นั้นราคาจะไม่มีโอกาสขยับตัวสูงขึ้นได้ ในตลาดคอนโดมิเนียมกรุงเทพฯ
สำหรับการคาดการณ์แนวโน้มตลาดคอนโดมิเนียมในปี 2562 นั้น นางนลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ เชื่อว่า ในส่วนของอุปทานใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 น่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ใกล้เคียงกับตัวเลขเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา ที่ประมาณ 53,000 หน่วย ในขณะที่ความต้องการยังคงอยู่ในช่วงระหว่าง 50,000-55,000 หน่วย จากตัวเลขประมาณการดังกล่าว อัตราการขายรวมและห้องเหลือในตลาดก็น่าจะอยู่ในปริมาณใกล้เคียงกับตัวเลขปีนี้
สำหรับรูปแบบของการพัฒนาสินค้าก็จะปรับให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายย่อยมากขึ้น เช่นคอนโดสำหรับคนรักการออกกำลังกาย สำหรับผู้สูงอายุ หรือ คนรักสัตว์ เป็นต้น นอกจากนี้ คอนโดมิเนียมเช่าสิทธิระยะยาวในทำเลที่ดีก็จะมีออกมาในตลาดเพิ่มขึ้น รวมถึงโครงการ mixed used ที่ผสมผสานคอนโดมิเนียมเข้ากับพื้นที่เชิงพาณิชย์ซึ่งน่าจะตอบโจทย์ ไลฟ์สไตล์คนรุนใหม่ที่ต้องการความสะดวกสบายก็จะเปิดตัวมากขึ้นเช่นกัน
นอกจากนี้ในมุมมองของ เน็กซัส สัดส่วนของห้องชุดที่ผู้ประกอบการควรจะพัฒนา น่าจะเพิ่มสัดส่วนไปที่กลุ่มซิตี้คอนโด และตลาดระดับกลาง (mid market) ที่เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของกรุงเทพมากขึ้นเพื่อจะได้ตอบสนองกับความต้องการอยู่อาศัยจริง ซึ่งจะเป็นตลาดที่มีเสถียรภาพและยั่งยืนมากกว่าตลาดต่างชาติเพื่อการลงทุน แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ได้มองข้ามการลงทุนจากต่างชาติเลย
สำหรับตลาดการลงทุนจากต่างชาติที่เป็นที่จับตามองในช่วงที่ผ่านมานั้น การลงทุนจากนักลงทุนรายใหญ่หรือนักลงทุนสถาบันจะยังคงเห็นได้อย่างต่อเนื่อง ในปี 2562 สัดส่วนจำนวนห้องชุดที่นักลงทุนจากจีน ญี่ปุ่น และบางส่วนจากฮ่องกงและสิงคโปร์ ที่เข้ามาลงทุนน่าจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 30% จาก 26% (15,820 หน่วย ใน 24 โครงการ ในปี 2561)
นอกจากนี้ นักลงทุนรายย่อยจากประเทศจีนก็น่าจะยังคงเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยอย่างต่อเนื่องในทำเลที่ขยายออกไปจากทำเลเดิม ตลาดฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน ก็น่าจะยังรักษาระดับการลงทุนที่ไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมา
ในขณะที่ตลาด CLMV เป็นตลาดใหม่ที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก หากจะวิเคราะห์ถึงการปรับตัวของราคาคอนโดมิเนียมในกรุงเทพในช่วง 1-3 ปีข้างหน้านั้น เน็กซัสมองว่าราคาจะปรับตัวสูงขึ้นในอัตราที่ลดลง ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นน่าจะไม่สามารถขึ้นได้ในอัตราที่มากเหมือนเมื่อหลายปีก่อน ดังนั้น ผู้ประกอบการเองก็น่าจะพัฒนาโครงการในราคาที่ไม่ต้องปรับตัวสูงขึ้นมากนัก ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่าราคาคอนโดมิเนียมจะปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยอยู่ในระดับ 6-7% ต่อปี
นอกจากนี้ ในส่วนของทำเลการพัฒนาโครงการนั้น มีปัจจัยเรื่องภาพลวงตาของทำเลการอยู่อาศัย (Illusion of location) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาเลือกซื้อที่อยู่อาศัย พร้อมพงษ์ ทองหล่อ เอกมัย ยังคงเป็นทำเลยอดนิยมสำหรับผู้ประกอบการ ที่มองหาที่ดินเพื่อเข้ามาพัฒนาโครงการ แต่ในทำเลนี้ ราคาคอนโดมิเนียมที่ควรเป็น น่าจะเป็นราคาที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายจริงๆ
ในขณะที่ทำเลริมแม่น้ำเจ้าพระยาและฝั่งธนบุรี ที่ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้ราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับรถไฟฟ้าสายสีทองที่กำลังก่อสร้าง และก็เช่นเดียวกัน คอนโดมิเนียมที่เกิดขึ้นใหม่ราคาก็จะต้องสูงขึ้นมากอย่างแน่นอน จริงๆ แล้ว ทำเลอย่าง ติวานนท์ ที่ผู้ประกอบการหลายรายยังคงมีคำถามจากอุปทานที่ยังมีขายอยู่นั้น ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ราคาคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จแล้วในบริเวณนี้ก็จะน่าสนใจ เพราะเป็นคอนโดที่ราคาจับต้องได้มากที่สุดในตลาด
สุดท้าย รัชดา พระราม 9 ทำเลทองของชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีน ถ้าจะยังคงเป็นทำเลที่ครองใจลูกค้ากลุ่มนี้ได้ การตั้งราคาและการทำการตลาดจะต้องเป็นไปอย่างเหมาะสมและมีบริการหลังการขายที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าต่างชาติกลุ่มนี้ได้จริงจากนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนการให้กู้ยืมเงินเพื่อการซื้ออสังหาริมทรัพย์นั้น จะส่งผลต่อการพัฒนาสินค้าในตลาดที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือคอนโดมิเนียม โดยบ้านอาจจะมีการขายระหว่างก่อสร้างมากขึ้นเพื่อให้ผู้ซื้อได้ผ่อนชำระเงินดาวน์บางส่วนก่อน คอนโดมิเนียมก็อาจจะต้องเน้นขายช่วงพรีเซลมากขึ้น ที่มีระยะเวลาการผ่อนยาวขึ้น และท้ายที่สุด เศรษฐกิจและการเมืองที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงจากการเลือกตั้งก็น่าจะมีผลต่อทิศทางของตลาดเช่นกัน
ตลาดอาคารสำนักงานให้เช่า
นายธีระวิทย์ ลิ้มทองสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทเน็กซัส เรียลเอสเตท แอ็ดไวเซอรี่ จำกัด (Mr. Teerawit Limthongsakul, Managing Director of Nexus Real Estate Advisory) กล่าวว่า ตลาดอาคารสำนักงานให้เช่า เกรด เอ และ เกรดบี ในกรุงเทพ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 4.1 ล้านตารางเมตร พบว่า ยังคงมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องของราคาค่าเช่าที่มีการปรับตัวสูงขึ้นและอัตราว่างของพื้นที่ที่อยู่ในระดับต่ำ
จากข้อมูลในไตรมาส 4 ปีนี้ เห็นได้ว่าอุปทานของอาคารสำนักงานให้เช่าในกรุงเทพ ลดลงเล็กน้อย เนื่องมาจากมีบางอาคารอยู่ระหว่างการปิดปรับปรุงให้มีความทันสมัย ปลอดภัย สะอาด และสะดวกสบายมากขึ้น เพื่อดึงดูดผู้เช่าในตลาด
สำหรับตลาดพื้นที่อาคารสำนักงานให้เช่านั้นยังคงมีความต้องการสูงจากธุรกิจให้เช่าพื้นที่ทำงานร่วม (co-working space) และสำนักงานพร้อมบริการ (serviced-office) ที่กำลังได้รับความนิยม ทำให้อัตราว่างของพื้นที่เช่าในช่วงไตรมาสนี้ลดลงเหลือเพียง 4% เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาคารสำนักงานเกรดเอใหม่ๆ จะได้รับความสนใจจากผู้เช่าเป็นอย่างมาก
ในส่วนของราคาค่าเช่าอาคารสำนักงานในกรุงเทพ เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 800 บาท/ตารางเมตร/เดือน แต่หากพิจารณาเฉพาะอาคารสำนักงานเกรดเอที่อยู่ในย่านศูนย์กลางธุรกิจเท่านั้น พบว่า ค่าเช่าเฉลี่ยสูงกว่า 1,000 บาท/ตารางเมตร/เดือน นับเป็นสถิติใหม่ในตลาดอาคารสำนักงานให้เช่าของกรุงเทพ ยิ่งไปกว่านั้นสำหรับบางอาคารที่ตั้งอยู่บนถนนวิทยุหรือเพลินจิต อย่างเช่น อาคารเกษร ทาวเวอร์ และปาร์คเวนเชอร์ อีโคเพล็กซ์ ที่สามารถทำราคาค่าเช่าได้สูงถึง 1,500 บาท/ตารางเมตร/เดือน ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สูงที่สุด ณ ขณะนี้
แต่อย่างไรก็ตาม ในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีพื้นที่อาคารสำนักงานใหม่ให้เช่าเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 ล้านตารางเมตร หรือประมาณ 25% ของพื้นที่ที่มีอยู่ในตลาด ณ ปัจจุบัน อาจส่งผลให้มีอัตราว่างของพื้นที่ให้เช่าสูงขึ้นจากเดิมถึง 2 เท่า โดยจะมีอัตราว่างของพื้นที่ประมาณ 10% จากเดิมที่มีเพียง 4-5% เท่านั้น ถือว่าเป็นอัตราว่างที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี และอาจส่งผลให้อัตราการขึ้นราคาค่าเช่ามีการปรับตัวช้าลงอีกด้วย หากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นตลาดอาคารสำนักงานให้เช่าในกรุงเทพ จะมีการแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้นอย่างแน่นอน อาจส่งผลให้ตลาดเกิดการเปลี่ยนแปลง
โดยจำนวนอุปทานที่มีมากขึ้นในตลาดจะทำให้ผู้เช่ามีอำนาจในการต่อรองที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าอัตราว่างของพื้นที่เช่าจะสูงถึง 10% ก็จริง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เกิดอุปทานล้นตลาด เนื่องจากอัตราว่างของพื้นที่ประมาณ 10% ยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจเมื่อเปรียบเทียบกับเมืองสำคัญอื่นๆ ทั่วโลก
ซึ่งจากการสำรวจของ Cushman & Wakefield ซึ่งเป็นบริษัทพันธมิตรของเน็กซัสฯ พบว่า ในประเทศกลุ่ม APAC มีอัตราว่างของพื้นที่อาคารสำนักงานให้เช่าเฉลี่ยอยู่ที่ 10% หรือแม้แต่ในสหรัฐอเมริกาก็ยังมีอัตราว่างของพื้นที่ถึง 13.3% ดังนั้น หากกรุงเทพมีอัตราว่างของพื้นที่ให้เช่าที่ประมาณ 10% ก็ถือว่ายังอยู่ในระดับที่ปกติ...
ตลาดศูนย์การค้า
สำหรับตลาดศูนย์การค้า จากการสำรวจพบว่า ตลาดยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากตลาดศูนย์การค้านั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ การบริโภคของภาคเอกชน รวมไปถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
ส่วนราคาค่าเช่าพื้นที่ศูนย์การค้าในย่านศูนย์กลางทางการค้าอย่างบริเวณถนนพระราม 1 และพร้อมพงษ์ ที่มีการแข่งขันสูงนั้น ทำให้อัตราค่าเช่าพื้นที่เฉลี่ยอยู่ที่ 3,900 บาท/ตารางเมตร/เดือน ในขณะที่ราคาเสนอให้เช่าพื้นที่สูงที่สุดของย่านนี้สูงทะลุถึง 5,000 บาท/ตารางเมตร/เดือน จากการเสนอราคาพื้นที่บริเวณชั้น G ของห้างสยามพารากอน
นอกจากนี้โซนนอกศูนย์กลางการค้าอย่างไอคอนสยามซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็มีราคาเสนอเช่าพื้นที่ที่สูงเช่นเดียวกัน โดยสูงมากกว่า 5,000 บาท/ตารางเมตร/เดือน นับว่าเป็นสถิติใหม่ของอัตราค่าเช่าพื้นที่สำหรับตลาดศูนย์การค้าในกรุงเทพ
ซึ่งการสำรวจของเน็กซัสฯ พบว่าพื้นที่ศูนย์การค้าให้เช่าที่เกิดขึ้นใหม่ของไตรมาสนี้ มาจากไอคอนสยามและเกตเวย์ แอท บางซื่อ ที่เพิ่งมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และคาดว่าจำนวนพื้นที่ของศูนย์กลางการค้าให้เช่าในปีหน้าจะมีมากถึง 240,000 ตารางเมตร
จากการคาดการณ์ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยและการท่องเที่ยวในปีหน้านั้นยังคงมองเป็นปัจจัยบวก โดยทางสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีการคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยว ณ สิ้นปี 2561 จะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 5.08% หรือคิดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 37.2 ล้านคน เนื่องจากลักษณะนิสัยของคนไทยที่นิยมไปซื้อของที่ร้านค้าด้วยตัวเองและสภาพอากาศที่ร้อน ทำให้ศูนย์การค้าได้รับความนิยมเป็นอย่างมากสำหรับคนไทย
แต่สำหรับตลาดในปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูง ผู้ประกอบการมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของตัวเอง ให้สามารถดึงดูดลูกค้าและเพิ่มยอดขายได้มากขึ้น เช่น การออกแบบ ไลฟ์สไตล์ สิ่งอำนวยความสะดวก ความปลอดภัย และแพลตฟอร์ม จะมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถยืนหยัดอยู่ในตลาดได้