ในตอนนี้ นิจะขอเล่าถึงความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับเงินและการวางแผนการเงินส่วนบุคคล นิเชื่อว่าหลายคนก็คงจะคิดเหมือนนิว่าการวางแผนการเงินส่วนบุคคลเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น แต่ทำไมยังวางแผนการเงินตัวเองไม่สำเร็จเสียที หรือไม่ก็ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี
บางคนก็คิดว่าเรื่องวางแผนการเงินเป็นเรื่องไกลตัว เพราะฉันยังไม่ได้มีเงินที่มากพอที่จะวางแผน หรือนานาสารพัดความเชื่อที่ถูกบ้างผิดบ้าง ก็เลยทำให้แผนการเงินของเราไม่รุดหน้าไปไหนเสียที หรือที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นก็คือไม่มีแผนการเงินใดๆ ทั้งสิ้น ปล่อยชีวิตไปตามแต่โชคชะตา กว่าจะรู้ตัวอีกที ก็สายเสียแล้ว ไม่มีใครหรอกค่ะที่จะวางแผนตัวเองเพื่อที่จะล้มเหลว หากแต่ล้มเหลวเพราะไม่ได้วางแผนต่างหากค่ะ
เหตุผลหลักที่ทำให้คนส่วนใหญ่ประสบความล้มเหลวทางการเงิน เนื่องมาจากเขามีความเชื่อและความเข้าใจที่ผิดๆ เกี่ยวกับเงินและการวางแผนการเงิน นิจึงคิดว่าเราควรใช้เวลาพูดคุยกันในประเด็นนี้สักเล็กน้อยเพื่อปรับความเชื่อและความเข้าใจให้ตรงกัน เพื่อที่คุณจะได้ไม่เป็นอีกคนที่ตกหลุมพรางหรือกับดักทางการเงินต่างๆ เหล่านี้ค่ะ
เรามาลองดูกันนะคะว่าความเชื่อหรือความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับเงินและการวางแผนการเงินส่วนบุคคลที่ได้มีการรวบรวมไว้ 10 ประการมีอะไรบ้าง แล้วคุณลองสำรวจตัวเองดูนะคะว่าคุณได้ตกหลุมพรางความเข้าใจผิดๆ ดังกล่าวทั้งหมดกี่ข้อกัน
1. ยิ่งหาเงินได้มากเท่าไหร่ คุณยิ่งรวยขึ้นมากเท่านั้น อันที่จริงแล้วเราไม่ได้วัดคนรวยจากรายได้นะคะ แต่เราวัดคนรวยจากความมั่งคั่งสุทธิ หรือ Net Worth ต่างหากค่ะ ซึ่ง ความมั่งคั่งสุทธิ = สินทรัพย์ – หนี้สิน หรืออีกนัยหนึ่ง คือ การที่คุณรวบรวมทรัพย์สินทั้งหมดที่มี หักหนี้สินออก เหลือเท่าไหร่ เท่านั้นก็เป็นส่วนของคุณ นั่นแหละคือมาตรวัดความร่ำรวยที่แท้จริง ซึ่งก็แปลว่าการที่เราเห็นคนอื่นมีบ้านหลังโต หรือมีรถหลายคัน ก็ไม่ได้แปลว่าเขาเป็นคนรวยก็ได้นะคะ เพราะเขาอาจจะเป็นหนี้ก้อนโตจากการซื้อบ้าน หรือรถที่โตเกินความจำเป็นก็เป็นได้
2. การวางแผนการเงินเป็นเรื่องของคนรวยไม่ใช่เรื่องของคนจนและคนเกือบจน (คนชั้นกลาง) ที่ถูกคือ ไม่ว่าจะยากดีมีจน ทุกคนต้องวางแผนการเงินค่ะ
3. รวยแล้วไม่จำเป็นต้องวางแผนการเงินก็ได้ ความจริงเหมือนข้อ 2 เลยค่ะ ขอย้ำอีกครั้งว่า ทุกคนต้องวางแผนการเงิน
4. ไม่ให้ความสำคัญกับเงินเฟ้อ หรือประเมินความน่ากลัวของเงินเฟ้อต่ำเกินไป... เงินเฟ้อคืออะไร เงินเฟ้อคือสภาวะที่ข้าวของแพงขึ้นเรื่อยๆ หรืออีกนัยหนึ่งคือสภาวะที่เงินลดค่าลงเรื่อยๆ ความหมายของเงินที่ลดค่าลงเรื่อยๆ ก็คือ เงิน 100 บาทในอีก 10 ปีข้างหน้าจะไม่สามารถซื้อข้าวของ เครื่องใช้ได้เท่ากับการใช้เงิน 100 บาทซื้อข้าวของในวันนี้ ดังนั้นจงอย่าได้ประมาทเงินเฟ้อไปค่ะ เพราะเงินเฟ้อน่ากลัวจริงๆ ค่ะ
5. การวางแผนการเงินคือการวางแผนการลงทุนเท่านั้น... ที่ถูกคือการวางแผนการเงินส่วนบุคคลเริ่มต้นจากการวางแผนสภาพคล่อง เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินที่มากเพียงพอ (อย่างน้อย 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน) ถัดมาก็จะเป็นเรื่องของการวางแผนบริหารความเสี่ยงเพื่อปกป้องความมั่งคั่งผ่านการวางแผนประกัน จากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนการสะสมความมั่งคั่งผ่านการวางแผนภาษี การวางแผนการเกษียณอายุและการวางแผนการลงทุน
และสุดท้ายก็จะเป็นการกระจายความมั่งคั่งเพื่อส่งต่อทรัพย์สินที่ได้สั่งสมมาต่อไปให้แก่ลูกหลานหรือทายาทผ่านการวางแผนมรดก ซึ่งในการวางแผนการเงินที่ถูกต้องครบถ้วน จะต้องมีการวางแผนที่ครอบคลุมทุกแผนที่ได้กล่าวมาข้างต้นค่ะ นั่นหมายความว่าการวางแผนการลงทุนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการวางแผนการเงินค่ะ
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ มีข้อไหนบ้างที่ตรงกับความเข้าใจผิดของคุณ ซึ่งก็เป็นโอกาสอันดีที่เราจะมาแก้ไขความเข้าใจผิดของเรากันค่ะ ส่วนความผิดพลาดอีก 5 ข้อที่เหลือจะมีอะไรบ้าง ติดตามอ่านได้ในตอนต่อไปค่ะ ^^
ผู้เขียน นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP
นักวางแผนการเงินอิสระ วิทยากร และนักเขียน