เอาล่ะค่ะ เรามาว่ากันต่อถึงความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเงินและการวางแผนการเงินส่วนบุคคลในอีก 5 ข้อที่เหลือกันต่อว่ามีอะไรบ้าง
6. การวางแผนเกษียณเป็นเรื่องของอนาคต
หลายคนคิดว่าการวางแผนเกษียณอายุเป็นเรื่องของคนใกล้เกษียณอายุแล้วเท่านั้น คนส่วนใหญ่จึงมักละเลย ผัดวันประกันพรุ่งในการวางแผนเกษียณอายุ และคิดว่าเป็นเรื่องที่ยังไม่จำเป็นและไม่เร่งด่วน จึงมักนำเงินไปใช้กับเป้าหมายระยะสั้น เช่น เพื่อการท่องเที่ยว หรือการผ่อนบ้านและผ่อนรถ ซึ่งแน่นอนย่อมตามมาด้วยกับภาระดอกเบี้ยจ่าย ผลก็คือไม่เหลือเงินออม และในท้ายที่สุดก็มีชีวิตบั้นปลายหลังเกษียณที่ยากลำบาก เป็นภาระของลูกหลาน หรือเป็นภาระของสังคม หวังว่านี่คงไม่ใช่ชีวิตบั้นปลายที่คุณอยากได้หรอกนะคะ ดังนั้นจงรีบวางแผนเกษียณอายุให้เร็วที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้ค่ะ
7. การวางแผนภาษีกับการหนีภาษีเป็นเรื่องเดียวกัน
ข้อเท็จจริงคือทั้งสองเรื่องแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงเลยค่ะ การหนีภาษีเป็นการหลีกเลี่ยงหรือมีเจตนาที่จะไม่เสียภาษีหรือเสียภาษีให้น้อยลง เช่น การยื่นแสดงรายได้ไม่ครบถ้วนหรือต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อให้มีภาระภาษีที่น้อยลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายมีความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่งค่ะ ในขณะที่การวางแผนภาษีเป็นการอาศัยสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่กฎหมายกำหนดให้ เพื่อช่วยให้ผู้ที่ปฏิบัติตามสามารถลดหย่อนภาระภาษีที่ต้องเสียให้แก่รัฐลงได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย สามารถนำเงินที่ประหยัดจากภาระภาษีที่ลดลงไปใช้ในการออม การลงทุน และในด้านอื่นๆ เพื่อเพิ่มความมั่งคั่งให้แก่ตนเองได้ค่ะ
8. การวางแผนประกันหรือการวางแผนมรดกคือการแช่งตัวเอง
ตามทัศนคติเดิมๆ บางคนมีความเชื่อว่าการทำประกันชีวิตเหมือนเป็นการแช่งตัวเอง และการทำพินัยกรรมหรือวางแผนมรดก เมื่อแบ่งเงินให้ลูกหลานไปหมดแล้ว ลูกหลานจะไม่รักหรือไม่เลี้ยงดู ก็เลยทำให้คนไม่สนใจการวางแผนประกันและวางแผนมรดก นิขอแก้ความเข้าใจผิดข้อนี้สักหน่อยนะคะ ในความเป็นจริงแล้ว แนวคิดของการประกันเป็นสิ่งที่ดี คือเป็นการเฉลี่ยความเสี่ยงหรือความเสียหายไปให้คนหมู่มาก ทำให้ทุกคนยังสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ภายใต้มาตรฐานการดำรงชีพที่ไม่แตกต่างไปจากเดิม
การวางแผนการประกันซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนการเงินนั้น จึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญและเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพมากในการป้องกันเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นกับใครคนใดคนหนึ่งได้ตลอดเวลา แผนการประกันที่ครอบคลุมมากพอ จะช่วยให้ทุกคนสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นใจ และเกิดความสงบทางใจมากขึ้น และขอย้ำนะคะว่าไม่ได้เป็นการแช่งตัวเองตามทัศนคติที่เชื่อกันมาแบบผิดๆ เลยค่ะ
9. แผนการเงินของใครก็เหมือนๆ กัน ทำครั้งเดียวใช้ได้ตลอด
ถึงแม้ว่าแผนการเงินส่วนบุคคลจะมีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมือนกันแต่จะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันค่ะ เนื่องจากแต่ละคน มีเงื่อนไขข้อจำกัดเฉพาะบางประการที่แตกต่าง เช่น มีเป้าหมายและฐานะทางการเงินที่แตกต่างกัน ย่อมต้องการวิธีการและแผนการเงินในรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไปด้วยเช่นกัน
ดังนั้นแผนการเงินของใครก็ตามจะเป็นแผนเฉพาะที่ตอบสนองต่อเป้าหมายทางการเงินของบุคคลนั้นๆ ในบางครั้งอาจนำไปปรับใช้กับบุคลลอื่นที่มีคุณลักษณะเฉพาะและฐานะทางการเงินที่ใกล้เคียงกันได้ แต่จะขาดๆ เกินๆ ไม่สมบูรณ์แบบ และอาจนำมาซึ่งผลเสียมากกว่าผลดีค่ะ
แผนการเงินที่ไม่มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับเงื่อนไขเฉพาะของแต่ละบุคคลที่เปลี่ยนไป ไม่สามารถทำให้บุคคลที่เป็นเจ้าของแผนสามารถบรรลุถึงเป้าหมายทางการเงินตามที่ต้องการได้ค่ะ ดังนั้นต้องอย่าลืมหมั่นทบทวนแผนการเงินของคุณอย่างสม่ำเสมอด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าคุณยังอยู่บนเส้นทางสู่อิสรภาพทางการเงินค่ะ
10. การวางแผนการเงินทำเองก็ได้ ไม่ต้องพึ่งมืออาชีพ
เนื่องจากเรื่องราวการวางแผนการเงินส่วนบุคคลเป็นเรื่องค่อนที่ข้างใหม่ในเมืองไทย ความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวยังมีอยู่ค่อนข้างจำกัด ทำให้หลายๆ คนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเรื่องที่ง่าย สามารถทำเองได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งมืออาชีพ
ในความเป็นจริงผู้มีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาและวางแผนการเงิน เปรียบเทียบไปจะคล้ายกับหมอที่มีหน้าที่ในการวิเคราะห์คนไข้ และหาทางในการรักษาให้ถูกต้องตรงกับโรคเพื่อให้หายจากการเจ็บป่วยและกลับมามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง
ฉันใดก็ฉันนั้น นักวางแผนการเงินหรือที่ปรึกษาทางการเงินก็เช่นกันค่ะ มีหน้าที่ในการวิเคราะห์ฐานะ ข้อจำกัดและเป้าหมายทางการเงินของลูกค้าแต่ละรายซึ่งมีลักษณะเฉพาะที่ต่างกัน และให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาทางการเงิน รวมถึงข้อเสนอแนะ และแนวทางปฏิบัติที่จะช่วยให้ลูกค้าสามารถบรรลุถึงเป้าหมายทางการเงินที่ต้องการได้
กล่าวคือทำให้ลูกค้ามีสุขภาพทางการเงินที่แข็งแรงขึ้น ซึ่งการจัดทำแผนทางการเงินด้วยตัวเองโดยปราศจากความรู้ความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง นอกจากจะทำให้ไม่สามารถบรรลุถึงเป้าหมายทางการเงินที่ต้องการแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดปัญหาทางการเงินที่รุนแรงตามมาด้วยก็เป็นได้ค่ะ
อ่านมาถึงตรงนี้ สรุปว่าคุณตกหลุมพรางความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับเรื่องเงินและการวางแผนการเงินไปกี่ข้อคะ นิหวังว่าเนื้อหาที่นำเสนอใน 2 ตอนที่ผ่านมาจะช่วยแก้ความเข้าใจผิดให้คุณไม่มากก็น้อย และได้ช่วยให้คุณมีความเชื่อ ความเข้าใจที่ถูกต้องมากขึ้นค่ะ
ผู้เขียน นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP
นักวางแผนการเงินอิสระ วิทยากร และนักเขียน