เมื่อไม่นานมานี้ เราอาจจะเพิ่งได้ยินข่าวคราวของการเรียกเก็บภาษีจากดอกเบี้ยที่ได้จากเงินฝากออมทรัพย์กันไป ทำให้เกิดความตกอกตกใจกันว่าดอกเบี้ยที่ได้จากการฝากเงินนั้น ก็น้อยแสนน้อย ยังต้องมาเสียภาษีอีกเหรอ
ความจริงก็คือ ดอกเบี้ย เป็นเงินได้ประเภทหนึ่ง ซึ่งผู้ที่ได้รับดอกเบี้ยจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 15% ดังนั้นหากคุณมีการออมเงินหรือลงทุนในแบบใดก็ตามที่ได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย เช่น ฝากประจำ ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้ ดอกเบี้ยที่ได้นั้นจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 15% ค่ะ
ยกเว้นบุคคลที่ได้รับดอกเบี้ยจากเงินฝากออมทรัพย์รวมกันทุกบัญชีไม่เกิน 20,000 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษี คือ ไม่โดนหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ซึ่งที่ผ่านมาหากเราได้ดอกเบี้ยจากการฝากออมทรัพย์ไม่ถึง 20,000 บาท เราก็จะไม่เสียภาษีกันอยู่แล้วค่ะ ย้ำว่าเป็นภาษีของดอกเบี้ยที่ได้จากการฝากออมทรัพย์! ไม่ใช่ภาษีของเงินฝากที่อยู่ในบัญชี หมายความว่าอะไร?
ก็หมายความว่า หากคุณมีเงินฝากอยูในบัญชีออมทรัพย์ 50,000 บาท ได้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 0.5% ต่อปี เท่ากับ 50,000 x 0.5% = 250 บาท เท่ากับว่าคุณได้ดอกเบี้ยที่ 250 บาท ซึ่งไม่ถึง 20,000 บาท แบบนี้คุณก็จะไม่ต้องเสียภาษีของดอกเบี้ยยังไงล่ะคะ
แต่ถ้าคุณมีเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์รวมกันทุกบัญชีตั้งแต่ 4,000,000 บาทขึ้นไป ซึ่งจะทำให้คุณได้ดอกเบี้ยจากการฝากออมทรัพย์อยู่ที่ 20,000 บาท (4,000,000 x 0.5% = 20,000) แบบนี้คุณจะต้องเสียภาษีของดอกเบี้ยแล้วค่ะ โดยที่คุณมีหน้าที่แจ้งกับธนาคารให้ทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 15% หรือมิเช่นนั้นคุณก็ต้องนำรายได้จากดอกเบี้ยมารวมยื่นเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีประจำปีด้วยค่ะ
ที่ผ่านมาผู้ฝากเงินมีหน้าที่ต้องแจ้งให้ธนาคารรับรู้เมื่อได้รับดอกเบี้ยรวมทุกบัญชีเกิน 20,000 บาท เพื่อให้ธนาคารทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งกรมสรรพากร (ซึ่งผู้ฝากเงินโดยมากไม่ได้แจ้งให้ธนาคารรับรู้ค่ะ)
แต่ตอนนี้ผู้ฝากเงินต้องแจ้งต่อธนาคารว่ายินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ให้แก่กรมสรรพากรทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้กรมสรรพากรเชื่อมโยงข้อมูลและทราบจำนวนดอกเบี้ยของผู้ฝากเงินในทุกบัญชีของทุกธนาคารของเรานั่นเอง
และเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ฝากเงิน ไม่ต้องเดินทางไปลงทะเบียนหรือเซ็นต์ยินยอมที่ธนาคารอีกต่อไปกรมสรรพากรจะใช้อำนาจให้ธนาคารพาณิชย์ส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ทุกบัญชีมาให้กรมสรรพากร และหากสรรพากรทำการตรวจสอบและพบว่า ผู้ฝากเงินรายใดได้รับดอกเบี้ยเงินฝากเกิน 20,000 บาท สรรพากรจะส่งข้อมูลกลับไปให้ธนาคารทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ของดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ให้สรรพากรเอง
ทว่าหากคุณได้รับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เกิน 20,000 บาทต่อปี และยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากรตรวจสอบ คุณก็ไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะหากสรรพากรตรวจสอบและพบว่าคุณได้รับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เกิน 20,000 บาทต่อปี สรรพากรจะส่งข้อมูลกลับไปให้ธนาคารหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ของดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ให้สรรพากรเอง
คุณมีสิทธิ์ที่จะไม่ให้ธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากรได้เช่นกัน แต่คุณต้องทำการกรอกแบบฟอร์มเพื่อแจ้งกับธนาคารทุกธนาคารที่คุณเปิดบัญชีออมทรัพย์ ตั้งแต่ วันที่ 7 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นการแจ้งครั้งเดียว และสำหรับเจ้าของบัญชีที่แจ้งภายในวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 จะมีผลต่อรอบภาษีดอกเบี้ยจ่ายครึ่งปีแรก ในเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ซึ่งในกรณีนี้ ธนาคารจะทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายของดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ทันที แม้ว่าคุณจะได้ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ไม่ถึง 20,000 บาทต่อปีก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคุณจะยินยอมหรือไม่ยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากให้สรรพากร หากสรรพากรตรวจพบว่าคุณได้รับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เกินกว่า 20,000 บาทต่อปี คุณก็ยังต้องเสียภาษีตามปกติ โดยที่การหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% เป็นไปตามเงื่อนไขทางกฎหมาย ซึ่งผู้เสียภาษีสามารถเลือกใช้สิทธิไม่รวมคำนวณภาษีปลายปีได้ แต่ในกรณีที่ไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ เราจะไม่มีสิทธิเลือก และต้องนำดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีปลายปีด้วย
ผู้เขียน นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP
นักวางแผนการเงินอิสระ วิทยากร และนักเขียน