“นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร” แหะๆ ขอยกถ้อยคำอมตะของ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี มาเปิดกันหน่อยนะ เพราะช่วงนี้เราจะได้ยินชื่อหนังสือเล่มหนึ่งผ่านหูผ่านตากันเยอะเลย นั่นคือเรื่อง “Animal Farm” แต่ดังเพราะอะไรกันน้า... เอ๊... ครุ่นคิด
เอาเป็นว่าเจ้า “Animal Farm” นั้น ฟังแค่ชื่อแล้วจะด่วนตัดสินเนื้อหาไม่ได้เด็ดขาด เพราะมันไม่ได้พูดถึงเรื่องราวน่ารักๆ เหมือน “เบ๊บ หมูน้อยหัวใจเทวดา” หรือ “สี่สหายนักดนตรีแห่งเมืองเบรเมน” แม้ในหนังสือจะมีสัตว์หลากหลายพันธุ์ แต่ถ้าได้ลองอ่านแล้วจะรู้เลยว่านี่มันหนังสือสะท้อนการเมืองที่ใช้สังคมของสัตว์มาเสียดสีแบบเจ็บแสบ แถมยังมีคติดังประดับฟาร์มอย่าง “สี่ขาดี สองขาเลว!” ให้ท่องจำกันด้วย
แต่นอกจากหนังสือเล่มนี้แล้วก็ยังมีหนังสือสะท้อนการเมืองอีกหลายเล่มที่น่าสนใจ วันนี้พี่หมีเลยแปลงร่างเป็นหมีหนังสือ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับ “8 หนังสือสะท้อนการเมือง อ่านได้...ไม่ต้องรอให้ใครแนะนำ” มีทั้งแบบดิสโทเปียและยูโทเปียให้เลือกสรร แต่เชื่อเหอะว่าอ่านจบต้องกดเซฟกดเสิร์ชแล้วรีบหามาอ่านกันต่อแน่นอน
จุ๊ๆ หมีหนังสือขอบอกไว้ตั้งแต่ต้นเลยแล้วกันว่าหลายๆ เล่มขึ้น Out of stock กันไปแล้วหลังจากมีกระแส “Animal Farm” ออกมา ดังนั้นใครสนใจเล่มไหน ถ้าไม่อยากโดนตัดหน้าไปก็รีบไปหาซื้อมาอ่านกันอย่าได้ช้านะคร้าบ เอิงเงิงเงยยย
Fahrenheit 451
มาเริ่มที่เล่มแรกอย่าง Fahrenheit 451 ที่ตีพิมพ์มาหลายสำนักพิมพ์หลากนักแปล แต่ก็จะรู้จักกันในชื่อที่ทับภาษาอังกฤษไปเลยอย่าง “ฟาเรนไฮต์ 451” ผลงานของ Ray Bradbury ที่บอกเลยว่าเล่มนี้เก่ามากแล้ว แต่ตอนนี้หนังสือกลับมาบูมอีกครั้งแถมพล็อตยังน่าสนใจมากอีกด้วย
ว่าแต่ทำไมต้องชื่อ Fahrenheit 451 ล่ะ? ที่มาของชื่อนั้นน่าสนใจมากเพราะ 451 องศาฟาเรนไฮต์ คืออุณหภูมิที่ผู้เขียนบอกว่าหนังสือจะลุกติดไฟได้เองโดยไม่ต้องพึ่งเชื้อเพลิง! ซึ่งตรงจุดนี้มันเกี่ยวกับเนื้อหาหลักของเรื่องที่เล่าถึงชายคนหนึ่งที่เป็นนักผจญเพลิง เขาไม่ได้ดับไฟ...แต่เป็นคนจุดไฟให้ติด โดยในโลกที่เขาอยู่นั้นมีโทรทัศน์เป็นใหญ่ ส่วนหนังสือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เพราะหนังสือเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง ดังนั้นใครที่มีหนังสือในครอบครองถือเป็นความผิด!
นักผจญเพลิงคนนี้จึงมีหน้าที่เผาหนังสือที่ผู้คนซุกซ่อนไว้ด้วยการราดน้ำมันและจุดไฟเผา แต่เขาก็คิดอยู่เสมอว่าสิ่งที่เขากำลังทำอยู่นี้มันถูกหรือผิดกันแน่ แหม...ฟังมาแค่นี้พี่หมีหนังสือคิดถึงการเผาตำราฆ่าบัณฑิตสมัยจิ๋นซีเลยทีเดียว 5555 เนี่ย...ลองคิดกันดูว่าถ้าวันหนึ่งโลกเรามีกฎหมายบังคับให้เผาหนังสือ และหนังสือที่เรารักมากที่สุดเล่มนั้นก็ทำสำเนาไม่ได้แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นฟะ!? เป็นพี่หมีคงอกแตกตายแน่ เง้ออออ
Lord of the Flies
พี่หมีหนังสือเชื่อว่า Lord of the Flies น่าจะเป็นหนังสือที่ผู้ใหญ่หลายคนรู้จักดี อีกชื่อหนึ่งที่คุ้นหูแน่ๆ คือ "จ้าวแห่งแมลงวัน" ทันสมัยขึ้นมาอีกนิดก็คือ "วัยเยาว์อันสิ้นสูญ" แต่ไม่ว่าจะเผยโฉมในชื่อไหน หนังสือเล่มนี้ถือเป็นผลงานขึ้นหิ้งของ William Golding อยู่ดี แถมยังเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของโรงเรียนในไทยและเทศเลยแหละ (ใครได้อ่านบ้างในวัยเรียนสารภาพมาซะดีๆ อย่าให้หมียกมือเก้อ)
แต่ถ้าใครยังไม่ได้อ่าน พี่หมีหนังสือเล่าให้ฟังคร่าวๆ ว่าเรื่องนี้พูดถึงเด็กผู้ชายชาวอังกฤษกลุ่มหนึ่งที่เดินทางโดยเครื่องบินในช่วงสงคราม แต่พระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก... เครื่องบินตกจ้า! เด็กๆ เลยต้องติดอยู่บนเกาะร้าง ในกลุ่มนั้นมีแต่เด็กเล็กๆ โตสุดไม่เกิด 12 ปี แต่พวกเด็กๆ ก็จัดระเบียบสังคมกันได้ วางแผนแบ่งหน้าที่กันดิบดี แต่สังคมอ่ะเนอะ มีกฏก็ต้องมีแหกกฏ ดังนั้นเด็กๆ จึงเริ่มมีการแยกกลุ่มออกไป การขโมย การทำร้ายกัน และสิ่งร้ายแรงต่างๆ นานา
สุดท้ายเนื้อหามันแสดงให้เห็นถึงความดำมืดในจิตใจคน ความไร้สติและความเห็นแก่ตัว แต่ก็ยังพูดถึงความเดียงสาของเด็กด้วยเหมือนกัน ถือเป็นการผสมกันระหว่าง Children dream และ Civilized adult dream ฝันของคนต่างวัยแต่จุดหมายปลายทางคือฝันร้ายไม่ต่างกัน แถมเป็นหนังสือสะท้อนการเมืองที่คลาสสิกมากๆ อีกเรื่อง ใครยังไม่เคยอ่านลองไปหาอ่านได้นะครับผม แต่เป็นแรร์ไอเท็มแล้วล่ะ หายากเหลือเกิน 5555
The Country of the Blind
มาต่อกันที่เรื่องนี้ กับ The Country of the Blind หรือ "ดินแดนคนตาบอด" ของ H. G. Wells. ที่สำหรับคนที่ชอบอะไรใหม่ๆ ทันสมัยอาจจะมองว่าเห่ยบรมไปสักหน่อย เพราะเค้าตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนเมษายน ปี 1904 โน่นแน่ะ แต่เชื่อเถอะว่าถ้าได้อ่านแล้วจะไม่มีทางบอกว่าเชยได้เลยเพราะมันสะท้อนสภาพสังคมในปัจจุบันได้ดีมากกกก
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือบางๆ อ่านจบได้ในเวลาสั้นๆ เล่าถึงเรื่องราวของหนุ่มนักปีนเขาที่บังเอิญเกิดพลัดหลงกับกลุ่มเพื่อนของตัวเอง กระทั่งเขาไปเจอกับหุบเขาแห่งหนึ่งที่มีแต่คนตาบอดอาศัยอยู่ แถมคนพวกนี้ยังมีความคิดแปลกๆ นั่นคือพวกพ้องของตนเองดีที่สุด ใครที่แตกต่างจากพวกเขาก็คือคนเลว!
อะแฮ่ม...พูดถึงตรงนี้ก็อดกระแอมออกมาไม่ได้ แบบว่า...จู่ๆ ก็เหมือนมอะไรมาติดคอ แค่กๆ แต่ว่าหนังสือเล่มนี้สามารถตีความออกมาได้หลากมุมมองนะ ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลและประสบการณ์ของผู้อ่านด้วยแหละ เพราะบ้างก็มองเป็นการเมือง บ้างก็มองเป็นชาติตะวันตกที่ทันสมัยกับกลุ่มประเทศโลกที่สาม แต่ถูกอย่างที่ส่วนหนึ่งของหนังสือว่าไว้ คือ “เขาเริ่มประจักษ์แก่ใจว่า คนเราไม่อาจต่อสู้หักหาญกับเพื่อนร่วมโลกที่มีพื้นเพความคิดจิตใจเป็นคนละแบบกับเราอย่างสิ้นเชิง” พูดแบบหมีๆ คือ “อยู่เมืองตาบอด ต้องบอดตาตาม” นั่นเอง คริคริ
The Giver
The Giver หรือ "โจนาสกับผู้ให้" ผลงานของ Lois Lowry นี่ก็เป็นอีกเล่มที่น่าจะคุ้นหูคุ้นตากันดีแถมยังตีพิมพ์เปลี่ยนปกให้ทันสมัยกันมาหลายเวอร์ชั่น แต่ว่าก็ว่าเหอะ โจทย์เรื่องมันออกจะใหญ่ไปสักนิด ดูไม่สมกับยี่ห้อวรรณกรรมเยาวชนเลย เพราะมันพูดถึงสังคมแบบดิสโทเปีย แต่เนื้อหานั้นเรียบง่ายอ่านสบายมาก ดังนั้นจึงเป็นหนังสือในแบบที่เราสามารถพูดได้ว่า "เด็กอ่านได้ ผู้ใหญ่อ่านดี" นั่นแหละคร้าบ
The Giver พูดถึงโลกอนาคตหลังการล่มสลายของยุคปัจจุบัน โดยมีตัวเอกเป็นเด็กชายชื่อโจนาส อาศัยอยู่ในชุมชนที่คนในชุมชนจะพัฒนาไปพร้อมๆ กันเมื่อครบรอบอายุ ไร้สีสันไร้ความหรรษามากๆ ไม่กระชุ่มกระชวยใจหมีสักกระติ๊ด และโจนาสได้เป็น The Receiver หรือ "ผู้รับ" ที่มีหน้าที่รับความทรงจำของโลกเก่าที่มีหลากหลายอารมณ์ความรู้สึก ทั้งสงคราม ความรัก ความเจ็บป่วย เสียงเพลง เสียงสัตว์ ฯลฯ
จะว่าไปแล้ว The Giver เป็นวรรณกรรมเล่มแรกๆ ที่พูดถึงธีมดิสโทเปียเลยนะ แถมยังต่างจากนิยายธีมดิสโทเปียเรื่องอื่นๆ ที่มักจะเน้นเนื้อหาไปกับการเมืองจ๋าและการใช้อำนาจในทางที่ผิดของคนกลุ่มหนึ่ง แต่ The Giver กลับเป็นนิยายธีมดิสโทเปียที่พูดถึงความหมายของการมีชีวิตมากกว่า ฮั่นแน่ น่าสนใจล่ะสิ! ลองไปหามาอ่านดูได้จ้า
UTOPIA
มีดิสโทเปียแล้วก็ต้องมียูโทเปีย เกริ่นนิดละกันว่า ยูโทเปีย (Utopia) นั้นหมายความถึงดินแดนในอุดมคติที่มีแต่ความสุขสงบเรียบร้อย ไม่มีสงครามและความขัดแย้ง ส่วน ดิสโทเปีย (Dystopia) ก็คือแนวคิดตรงข้ามกันของยูโทเปีย
หนังสือ "ยูโทเปีย" เล่มนี้ เป็นหนังสือของ Sir Thomas More เขียนไว้เมื่อปี 1516 ในยุคสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่แปด เก่าแก่มากแต่ก็ยังได้รับความนิยมกันอยู่เรื่อยๆ ที่คุณเค้าเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพราะเกิดแรงบันดาลใจตอนนึกถึงหนังสือ Republic ของเพลโตที่พูดถึงวิถีแห่งการปกครองที่ดี คุณพี่เค้าเลยเขียนสังคมในอุดมคติอย่าง "เกาะยูโทเปีย" เกาะในฝันที่อาจจะไม่มีอยู่จริงในโลกนี้ขึ้นมา
เกาะยูโทเปียนี้มีแต่ความดีงาม ความยุติธรรม บ้านเมืองก็น่าอยู่ ประชากรในเมืองก็เป็นมิตรน่ารัก การปกครองต่างๆ หรือระบบกฎหมายก็มีแบบแผน แต่กลับไม่มีใครรู้ตำแหน่งที่ตั้งของยูโทเปียเลยว่าอยู่ที่ไหน นอกจาก ราฟาเอล นักปราชญ์สูงวัยผู้รักการเดินทางที่เคยไปที่แห่งนั้นคนเดียว ใครอยากอ่านเรื่องราวของสังคมในอุดมคติ คิดว่าต้องอย่าพลาดเรื่องนี้เลย
ขุนทอง...เจ้าจะกลับมาเมื่อฟ้าสาง
"ขุนทอง...เจ้าจะกลับมาเมื่อฟ้าสาง" เป็นผลงานของ อัศศิริ ธรรมโชติ โดยหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่เค้าบอกว่า "ทรงพลังมาก" เล่มหนึ่ง แถมยังได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียน เมื่อปี พ.ศ. 2524 ด้วย
ในเล่มจะประกอบไปด้วยเรื่องสั้น 13 เรื่อง ที่ผู้เขียนเขียนขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2516-2521 เนื้อหาหลักๆ จะสะท้อนภาพสังคมในแง่มุมต่างๆ การต่อสู้กับอำนาจ การศึกษา ปัญหาสาธารณสุข ความยากจนและจริยธรรมของมนุษย์ กิเลสตัณหาและความบ้าคลั่ง ฯลฯ
ใครชอบความหม่นๆ ดาร์กๆ พี่หมีว่าน่าจะชอบหนังสือเล่มนี้ได้ไม่ยาก เพราะนอกจากจะเขียนให้ผู้อ่านเห็นภาพอารมณ์สิ้นหวังของตัวละครได้แล้ว การใช้ภาษายังทำให้ดี ไม่วิจิตรพิสดารแต่เต็มไปด้วยความรู้สึก พี่หมีหนังสือเคยหยิบมาอ่านสั้นๆ ยังสะอึกไปพักใหญ่ เอาเป็นว่าลองหามาอ่านกันดูนะ เล่มบางๆ ไม่หนา คิดว่าไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
ปีศาจ
“ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้บางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป” คือหนึ่งในประโยคลือลั่นสุดทรงพลังกับฉากบนโต๊ะอาหารที่ถูกกล่าวขวัญมานาน (ความจริงมีอีกประโยคที่ดังมากๆ แต่คิดไปคิดมาไม่เอามาลงดีกว่า 5555) ซึ่งหนังสือเรื่อง "ปีศาจ" ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ นี้ถูกนับเป็นหนังสือสะท้อนการเมืองอันดับต้นๆ ที่ถูกพูดถึงกันมากจนถึงปัจจุบันเลยทีเดียว
ปีศาจ พูดถึงเรื่องราวของทนายหนุ่มผู้มีความยึดมั่นในอุดมการณ์ และหญิงสาวจากสังคมชั้นสูงที่มีแนวคิดแบบคนรุ่นใหม่ โดยมีเบื้องหลังเป็นความต่างของชนชั้นเพราะทนายหนุ่มมีพื้นเพมาจากชาวนาในชนบท และในสายตาของ "ท่านเจ้าคุณ" บิดาของสาวเจ้าเรานั้นก็หยามเหยียดหนุ่มทนายคนนี้มากจริงๆ น้ำตามาาาา
หนังสือเล่มนี้นอกจากจะแสดงให้เห็นภาพของสังคมไทยในอดีตแล้ว ยังทำให้เห็นการปะทะกันของสังคมเก่าและสังคมใหม่ รวมถึงสภาพความเหลื่อมล้ำในแง่ต่างๆ ด้วย โดยรวมแล้วนวนิยายเรื่องนี้แม้จะเขียนมานานแต่กลับไม่ล้าสมัยไปตามกาลเวลาเลยสักจิ๊ดเดียวฮะท่านผู้ชม
หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่
หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ (1984) เป็นผลงานที่เคียงกันมากับ Animal Farm โดยทั้งสองเล่มเป็นผลงานของ George Orwell และแน่นอนว่าหลายคนต้องคุ้นชื่อหนังสือเล่มนี้ แต่ก็ต้องมีอีกหลายคนเหมือนกันที่ไม่เคยหยิบมาอ่านใช่มั้ยล่ะ
เอาเป็นว่าพล็อตมันน่าสนใจมาก เพราะพูดถึงตัวละครที่เป็นพลเมืองของประเทศแห่งหนึ่งที่มีการปกครองโดยพรรคการเมืองเดียวเบ็ดเสร็จ และมีผู้นำสูงสุดคือ Big Brother ผู้ที่มีใบหน้าปรากฏอยู่ทั่วทุกมุมเมือง กับสโลแกนสุดหลอนหูอย่าง "Big Brother is watching you"
ทั่วทุกที่ในรัฐนี้จะมีโทรภาพที่เป็นเครื่องรับและเครื่องส่งเสียงพร้อมภาพ เอาไว้คอยใช้จับตาดูความเคลื่อนไหวของประชาชน ทุกคนต้องรู้จักหน้าที่และช่วยกันสอดส่องผู้ที่เป็น “กบฏทางความคิด” หรือก็คือผู้เห็นต่างกันแหละ ดังนั้น หากพูดถึงสังคมดิสโทเปียสะท้อนการเมืองดีๆ สักเล่ม หนังสือเล่มนี้จึงถือเป็นหนังสือเล่มแรกๆ ที่ทุกคนต้องนึกถึงเลยทีเดียว
เขียนมาถึงตรงนี้แล้วก็หอบแฮ่กไม่น้อย แต่หนังสือสะท้อนการเมืองที่พี่หมีหนังสือเลือกมาฝากกันในวันนี้ก็มีหลากหลายอารมณ์ หลายรูปแบบคละกันไปเนอะ เลือกดูแล้วกันว่าชอบอ่านแบบไหน แต่พี่หมีหนังสือมองว่ามันสนุกและน่าสนใจทุกเล่มนั่นแหละ เอาเป็นว่าวันนี้หมีขอตัวไปทลายกองดองก่อนแล้วกัน แล้วพบกันใหม่วันหน้าฮับ!