เพิ่งจะผ่านเดือนมิถุนายนกันมาหมาดๆ ที่นอกจากจะเป็นเดือนลำดับที่ 6 ตามปฏิทินสากลกริกอเรียน ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยอีกด้วย แต่ความสำคัญของเดือนมิถุนายนไม่ได้มีแค่นั้น…
ถ้าย้อนไปเมื่อเดือนมิถุนายนของปี 1969 หรือเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ได้เกิดเหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ ซึ่งเป็นการชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมกันของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศทำให้เดือนมิถุนายน กลายเป็นเดือน Pride Month เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์อีกด้วย ไม่เพียงแค่นั้นในเหตุการณ์เมื่อปี69ยังได้จุดประกายให้ชาว LGBT ทั่วโลก ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิทางกฎหมายให้กับพวกเค้าเอง ซึ่งในระยะหลังมานี้เรามักจะได้เห็นข่าวคราวความเคลื่อนไหวผ่านหูผ่านตากันอยู่บ่อยๆ ซึ่งในบางองค์กรก็ออกมาตอบรับกระแส LGBT กันอย่างแพร่หลาย ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์รองเท้าผ้าใบยอดนิยมอย่าง Adidas ที่ล่าสุดก็ออกแบบคอลเลคชั่นใหม่กับเดือน Pride Month หรือแม้แต่ฝั่งอสังหาไทยของเราอย่าง แสนสิริ ก็ออกแคมเปญ #SansiriPride ณ บริเวณ Co-Working Space ภายในออฟฟิศ ร่วมเฉลิมฉลองความหลากหลายที่แตกต่างแต่ลงตัวอย่างสวยงาม พร้อมแสดงออกถึงตัวตนแห่งความภาคภูมิใจของแต่ละคนอย่างอิสระผ่านการแต่งตัวโทนสีรุ้งหลากสี
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับคำว่า LGBT กันก่อนดีกว่า LGBT หรือกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยซึ่งมีสัญลักษณ์เป็นสีรุ้งหรือธงสีรุ้งนั่นเอง โดยตัวอักษร LGBT ก็มีที่มาที่ไปเหมือนกันนะ L มาจากคำว่า Lesbian (เลสบี้ยน) G มาจากคำว่า Gay (เกย์) B มาจากคำว่า Bisexual (ไบเซ็กชวล) และ T มาจากคำว่า Transgender/Transsexual ที่แปลว่าบุคคลข้ามเพศนั่นเอง เอาล่ะวันนี้เราเลยจะพาทุกคนไปพบกับ 8 ภาพยนตร์ LGBT ที่จะช่วยเปิดมุมมองความรักให้หลากหลายมากขึ้น
1.Happy Together (1997)
เริ่มจากทางฝั่งเอเชียอย่าง Happy Together ภาพยนตร์ที่การันตีคุณภาพด้วยรางวัลผู้กำกับภาพยนต์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในปี 1997 อีกหนึ่งผลงานจาก หว่อง กาไว ผู้กำกับชั้นครูที่ขึ้นชื่อเรื่องในของ “ความเหงา” หรือที่เรามักจะได้ยินกันอยู่บ่อยว่า "กระทำการหว่อง" แน่นอนว่ายังไม่ทิ้งลายเดิมของตัวที่เป็นเหมือน Signature เจ้าพ่อหนังเหงา เรายังคงได้เห็น Mood and Tone ที่ยังคงความมีเสน่ห์ตามสไตล์หว่องในเรื่องนี้อย่างแน่นอน
เรื่องย่อ ไหล่เยี่ยฟา และ โหวเป่าหวัง ตัวละครที่นำแสดงโดย “เหลียง เฉา เหว่ย” และ “เลสลี่ จาง” ผ่านการตีแผ่ชีวิตคู่ของผู้คนบนทางสายสีม่วงที่เต็มไปด้วยเรื่องราวอันแสนเจ็บปวด ทั่งคู่เดินทางจากฮ่องกงสู่ประเทศอาร์เจนตินา โดยมีความฝันร่วมกันว่าจะไปที่น้ำตก “อีกัวซู” ด้วยกัน แต่ด้วยสภาพแวดล้อมบวกกับการอยู่ห่างไกลจากบ้านเกิด ไหล่เยี่ยฟาต้องการจะกลับฮ่องกงแต่โหวเป่าหวังกลับอยากใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศอาร์เจนติน่าตลอดไป ทำให้ทั้งคู่มักจะเกิดปัญหาทะเลาะและรักๆเลิกๆกันอยู่บ่อยครั้งเกือบทั้งหมดของภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกถ่ายทำ ณ ประเทศอาร์เจนติน่า หนังสามารถถ่ายทอดอารมณ์ให้ผู้ชมสัมผัสได้ถึงความเหงา อ้างว้าง และโดดเดี่ยว นอกจากมุมมองความรักที่หนังต้องการจะนำเสนอแล้ว ในเรื่องยังแอบสอดแทรกเรื่องราวเกี่ยวกับการคืนเกาะฮ่องกงของอังกฤษเอาไว้อีกด้วย ถือเป็นอีกเรื่องที่อยู่ในลิสท์หนัง LGBT ที่ไม่ควรพลาดไม่ว่าจะประการใด
2. Call me by your name (2017)
จากนิยายสู่ภาพยนตร์ที่ได้การตอบรับและเสียงวิจารณ์เชิงบวกกลายเป็นกระแสแห่งปี จนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ถึง 4 สาขาและสามารถคว้ารางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมมาได้จากผลงานการกำกับของ ลูกา กวาดาญีโน ภาพยนต์ที่มีปูมหลังเป็นประเทศอิตาลีในยุค 80 นำเสนอออกมาในรูปแบบหนังรัก LGBT ที่ยังเน้นความสวยงามของโลเคชั่น แฟชั่นเครื่องแต่งกายและศิลปะอันงดงาม เกิดเป็นหนังรักภาพสวยอีกเรื่อง ซึ่งก่อให้เกิดกระแสตามรอยภาพยนตร์ Call me by your name จากแฟนๆทั่วโลก แต่กว่าจะได้ภาพสวยๆในภาพยนตร์เรื่อง Call me by your name ต้องบอกก่อนว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ผู้กำกับภาพชาวไทยฝีมือดีอย่าง คุณสยุมภู มุกดีพร้อม เป็นผู้นั่งแท่นผู้กำกับภาพของ Call me by your name นั่นเอง
เรื่องย่อ เรื่องราวในช่วงฤดูร้อนของประเทศอิตาลีปี 1983 โอลิเวอร์นักศึกษาชาวอเมริกันในวัย 24 ได้เดินทางมายังประเทศอิตาลีเพื่อศึกษาและดูงานให้กับพ่อของ เอลิโอ เด็กหนุ่มวัย 17 ปี ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ค่อยๆพัฒนาในช่วงระยะเวลาสั้นๆของทั้งคู่ “รักครั้งแรกมักไม่สมหวัง” คงเป็นคำนิยามที่บอกเล่าถึงตัวละครของเอลิโอได้ดีที่สุด แม้รักครั้งแรกจะไม่สมหวัง แต่รักครั้งแรกนั้นยังคงทิ้งร่องรอยแห่งอดีตที่ยังงดงามอยู่ในความทรงจำของทั้งสองตลอดไป
3.Brokeback Mountain (2005)
เรียกได้ว่าเรื่องนี้เป็นใบเบิกทางของภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ LGBT ในเวทีใหญ่ๆระดับโลก คำกล่าวนี้คงไม่ได้เกินจริงนักสำหรับ Brokeback Mountain ภาพยนตร์ที่ผ่านฝีมือการกำกับของ "อั๊งลี่" ผู้กำกับชาวไต้หวัน กับการบอกเล่าเรื่องราวของชายรักชาย ภาพยนตร์เรื่องนี้กวาดรางวัลไปหลายเวทีเลยทีเดียวและหนึ่งในนั้นคือรางวัลใหญ่ระดับโลกอย่างออสการ์อีกด้วย โดยสามารถกวาดรางวัลจากออสการ์มาได้ถึง 3 สาขา คือ สาขาภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม และ สาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
เรื่องย่อ เรื่องราวที่บอกเล่าชีวิตของคาวบอยหนุ่ม 2 คน ที่ทั้งคู่มาช่วยกันทำฟาร์มแกะในช่วงฤดูร้อน บนหุบเขาที่มีชื่อว่า Brokeback หุบเขาที่มีแค่คน 2 คน ความเหงาบังเกิดเป็นความรักที่ต้องปิดบังไม่ให้ใครรู้ ซึ่งช่วงเวลาในภาพยนตร์เรื่องนี้คือยุค 60 แน่นอนว่าในสมัยนั้นอเมริกา ยังไม่ได้เปิดใจยอมรับเรื่องของเพศที่ 3 หากใครเปิดตัวก็จะโดนสังคมรุมประนาม ซ้ำร้ายไปกว่านั้นอาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิต หุบเขา Brokeback จึงเป็นเพียงสถานที่เดียวเท่านั้นที่สามารถให้พวกเขาทั้งคู่แสดงออกถึงความรักที่มีให้กันได้ ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจจะไม่ได้มีพล็อตที่หวือหวามากนัก แต่การใช้สถานที่มาเป็นตัวดำเนินเรื่องราวไปจนถึงการแสดงที่น่าจดจำของ "ฮีธ เลเจอร์" และ "เจค จิลเลนฮาล" เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นภาพยนต์ LGBT ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในโลก
4.มะลิลา The Farewell Flowers (2017)
ภาพยนตร์ไทยแนวโรแมนติก-ดราม่า ที่ได้รับรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ณ ประเทศเกาหลีใต้ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม คิม จิซก อวอร์ด อีกทั้งยังกวาดสุพรรณหงส์ไปถึง 7 รางวัล ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลงานการกำกับของ อนุชา บุญยวรรธนะ ภาพยนต์ที่บอกเล่าเรื่องราวของความความลัยแก่คนรักที่จากไปแล้ว โดยใช้ "บายศรี" มาเป็นหนึ่งในการเล่าเรื่อง
เหมือนบายศรีมีงานท่าถนอม
เติมแป้งหอมน้ำมันจันทร์ให้หรรษา
พอเสร็จการท่านเอาลงทิ้งคงคา
ต้องลอยมาลอยไปเป็นใบตอง
ข้อความข้างต้นเป็นรำพันพิลาป จาก สุทรภู่ ที่หนังใช้เป็นข้อความเปิดก่อนเริ่มเข้าสู่ภาพยนตร์
เรื่องย่อ เชน (รับบทโดย เวียร์ ศุกลวัฒน์) เจ้าของสวนมะลิผู้มีอดีตอันแสนเจ็บปวด และ พิช (รับบทโดย โอ อนุชิต) นักทำบายศรี ผู้เป็นอดีตคนรักของเมื่อวัยเด็กของเชน ในวันที่ทั้งคู่ได้กลับมาพบกันอีกครั้ง ภาพยนตร์ได้ปูภูมิหลังของเชนไว้คือ ชายหนุ่มผู้สูญเสียลูกสาวและแยกทางกับภรรยา และ พิชที่กำลังป่วยหนักด้วยโรคร้ายอย่าง "มะเร็ง" การกลับมาพบเจอกันอีกครั้งของเชนและพิช ทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจรื้อฟื้นความสัมพันธ์เมื่อครั้งอดีต มะลิลา คือหนังที่สอนให้มนุษย์รู้จักคำว่า "ปลง" อย่างเที่ยงแท้ ที่สำคัญเสน่ห์ของภาพยนต์เรื่องนี้คือการบอกเล่าโดยใช้ "บายศรี"เป็นตัวสื่อ นอกจากเนื้อหาที่ตราตรึงแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ ยังมีการเล่าเรื่องที่ใช้ภาพที่สามารถดึงอารมณ์คนดูได้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่าเป็นภาพยนตร์ไทยที่สวยงาม ที่ไม่อยากให้ทุกคนพลาดเลยทีเดียว
5.Love Simon (2018)
ภาพยนต์ที่ได้รับการดัดแปลงจากนิยายขายดีอย่าง Simon vs. The Homo Sapiens Agenda ถูกหยิบมาเล่าผ่านจอภาพยนตร์ Love Simon บอกเล่า LGBT เรื่องราวผ่านรูปแบบคอมเมดี้ผสมความเป็นไฮสคูลที่ดูเหมือนจะธรรมดา แต่แอบสอดแทรกประเด็นที่หลากหลายไปในตัวเรื่อง ทั้งเพื่อน สังคม และ ครอบครัวผ่านฝีมือการกำกับของ เกร็ก เบอร์ลานติ
เรื่องย่อ ไซมอน เด็กหนุ่มมัธยมปลายวัย 17 ที่เติบโตมาในครอบครัวที่สมบูรณ์ ภายนอกชีวิตของไซมอนดูเป็นเด็กที่มีชีวิตเพอร์เฟกต์คนหนึ่ง แต่ความเป็นจริงแล้วไซมอนรู้ว่าตัวเองเป็นเกย์และกำลังประสบปัญหาในเรื่องของการ "เปิดเผยตัวเอง" วันหนึ่งไซมอนได้สร้างอีเมลล์เพื่อใช้กับ "Blue" นามแฝงในเว็บไซต์ของโรงเรียนซึ่งประกาศตัวในนั้นว่า ตัวของBlueนั้นเป็นเกย์ เพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องราวของตัวเองและทั้งคู่ก็ตกหลุมรักกัน หนังเรื่องนี้เป็นหนังรักสูตรสำเร็จ ที่มีความพิเศษอยู่ที่การเล่าเรื่องของบริบทสังคมที่มี LGBT ครอบครัว และการยอมรับตัวตนของตนเองและผู้อื่น หรือหากจะเรียกว่า Love Simon เป็นหนังแนวก้าวผ่านวัย (Coming Of Age) ก็ยังได้ นอกจากความเพลิดเพลิน หนังเรื่องนี้ยังแฝงข้อคิดดีๆให้เราได้คิดตามอีกด้วย ถือว่าห้ามพลาดเลยทีเดียว
6.MoonLight (2016)
ภาพยนตร์ที่คว้ารางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2017 กับภาพยนตร์เรื่อง Moonlight กับการเสนอความรักในรูปแบบ LGBT ของกลุ่มคนผิวสี แน่นอนว่าเราไม่ค่อยจะได้เห็นแนวนี้บ่อยนัก ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สะท้อนประเด็นนี้ออกมาอย่างดีเยี่ยม ทั้งเชื่อชาติและความหลากหลายทางเพศกับการเป็นคนชายขอบท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่น่าหดหู่ ยังมีความอบอุ่น และ ละมุนที่ยังแอบแฝง ผลงานการกำกับของ แบร์รี เจนกินส์
เรื่องย่อ ภาพยนตร์บอกเล่าเรื่องราวของไชรอน ผ่านสามช่วงวัยตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ ชายผิวสีที่ใช้ชีวิตอยู่กับแม่ผู้ติดตาอย่างหนักในสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมของไมอามี่ กับการเรียนรู้การใช้ชีวิต ทั้งเพื่อ มิตรภาพ และการดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด รวมไปถึงการถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนร่วมชั้นเรียนเนื่องจากบุคลิกที่ดูอ่อนโยนและนุ่มนิ่ม และชารอนต้องเรียนรู้ความสับสนภายในใจของตัวเองจนกระทั่งเติบโต
7. The Chinese Botanist's Daughters (2006)
ผลงานจากผู้กำกับชาวฝรั่งเศษเชื้อสายจีนอย่าง ไต้ ซื่อเจี๋ย ภาพยนตร์ฝรั่งเศษและแคนาดาที่มีฉากหลังเป็นประเทศจีน บอกเล่าความรักเกี่ยวกับหญิงรักหญิง หรือ เลสเบี้ยน แน่นอนว่า The Chinese Botanist's Daughters ยังได้แฝงเรื่องราวต่างๆให้คนดูได้ศึกษาเป็นอย่างดีในสภาพสังคมที่ชายเป็นใหญ่อย่างประเทศจีน
เรื่องย่อ เรื่องราวของสาวลูกครึ่งจีนที่กำพร้าและสูญเสียพ่อแม่จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เธอฝึกงานในเกาะที่เป็นสวนพืชสมุนไพรกับพ่อหม้ายนักสมุนไพรใจร้ายที่มีลูกสาวแสนน่ารักและใจดี แต่กระนั้นทั้งคู่กลับเข้าอกเข้าใจกันเนื่องจากต่างฝ่ายต่างสูญเสียแม่ทั้งคู่ ความเข้าใจนั้นเกิดเป็นความรัก วันหนึ่งน้องชายของสาวที่เป็นลูกนักสมุนไพร กลับมาจากการเป็นทหารและได้ตกหลุมรักสาวลูกครึ่ง ซึ่งก็มีเหตุที่ทำให้เธอตกลงแต่งงานด้วย ภาพยนตร์เรื่องนี้ค่อนข้างดราม่าเพราะนอกจากเรื่องราวความรักแล้ว ยังได้เล่าในเรื่องของการกดขี่ข่มเหงเพศหญิงในสังคมจีนอีกด้วย
8. Blue Is the Warmest Colour (2013)
หนังเลสเบี้ยนที่มีถูกพูดถึงมากที่สุดถูกดัดแปลงมาจากนิยายภาพของ จูลี มาโรห์ เรื่องราวของเด็กสาววัยอยากรู้อยากลองที่ถูกเล่าเป็นภาพยนตร์จากมุมมองของผู้กำกับอย่าง Abdellatif Kechiche (ไม่แน่ใจว่าออกเสียงอย่างไรขออนุญาตทับศัพท์)
เรื่องย่อ อเดลเด็กสาวนักเรียนไฮสคูลที่ยังไม่รู้จักความรักที่แท้จริง เธอได้ลองคบผู้ชายมาบ้างแต่ก็ยังรู้สึกว่านั่นไม่ใช่ความรัก จนกระทั่งพบกับ เอ็มม่า หญิงสาวที่มีผมสีฟ้า ซึ่งหนังตั้งใจจะใช้สีนี้เป็นสีที่บอกเล่าถึงบุคลิกของเด็กสาวที่มีความห้าว เชื่อมั่นในตัวเอง และเชื่อมั่นในรัก ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังอัดแน่นไปด้วยอารมณ์และความรู้สึก เศร้าใจ และผิดหวังประดังเข้ามาในความสัมพันธ์ของทั้งคู่
เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับภาพยนตร์ LGBT ที่เรานำมาฝากกัน หากว่างเมื่อไหร่ลองหยิบยก หนึ่งในแปดเรื่องนี้ไปชมกัน รับรองว่าจะช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆที่ดีได้อย่างแน่นอน สุดท้ายนี้ขอทิ้งท้ายไปกับข้อความที่ว่า "เพศภาพไม่ได้เป็นตัวชี้วัดความดีชั่วของมนุษย์" ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร เพศอะไร จงเป็นตัวคุณอย่างภาคภูมิใจและมีความสุข