อย่าเพิ่งเบื่อหน่ายกับข่าวรถไฟฟ้า เพราะต้องบอกก่อนว่ารถไฟฟ้านี่แหละส่งผลต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในเมืองหลวงเป็นอย่างมากในยุคนี้
เช่นเดียวกันกับพี่หมีเอง ที่คิดว่าทุกวันนี้การเดินทางถือเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต เพราะคนส่วนใหญ่มักใช้เวลาในการเดินทางต่อวัน ก็กินเวลากันไปเป็นชั่วโมงๆ วันนี้พี่หมีจึงนำข่าวคราวของรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน แถวๆย่านฝั่งธนมาฝากอย่างช่วง บางอ้อ-ท่าพระ ต้องบอกก่อนว่าพี่หมีเองก็แอบลุ้นช่วงนี้อยู่เหมือนกันว่าทิศทางของเค้าจะเป็นอย่างไรบ้าง เพราะสมัยเรียนพี่หมี(ตัวนี้)ก็เคยพักอาศัยอยู่แถวๆย่านนี้อยู่หลายปี
จากงานสัมมนา Exploring Property Rental In Bangkok รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดีล จำกัด ในเครือ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ได้ดล่าวว่า แนวรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินช่วงบางอ้อ-ท่าพระ พบว่าหลังจากรัฐประกาศแผนการลงทุนในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา ช่วงแถบนี้มีอิทธิพลต่อตลาดอสังหาในพื้นที่คือ
1. ราคาขายที่ดินดิบมีการปรับตัว โดยรถไฟฟ้ามีส่วนช่วยผลักดันราคาที่ดินในแนวเส้นทางสูงถึง 46.6% ด้านตัวเลขก่อนหน้าที่จะมีโครงการเกิดขึ้นราคาที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวจะมีราคาขายอยู่ที่ 60,000-180,000 บาทต่อตารางวา แต่หลังจากประกาศลงทุนโครงการรถไฟฟ้าราคาที่ดินมีการปรับตัวต่อเนื่องขึ้นมาอยู่ที่ 150,000-400,000 บาท ต่อตร.ว.
2. ผลักดันให้เกิดการลงทุนในด้านคอนโดฯอย่างรวดเร็วส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับตัวของราคาที่ดินที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการแต่ละรายเข้ามาพัฒนาโครงการคอนโดฯทำให้เกิดการเร่งซื้อที่ดินและการเปิดโครงการใหม่ๆเร็วมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ซัปพลายใหม่ในตลาดของคอนโดฯเพิ่มขึ้น 66% จากเดิมในปี 2555 ที่มีซัปพลายใหม่ในพื้นที่ 2,680 ยูนิต ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 7,825 ยูนิต ขณะที่ในพื้นที่ในปี 2562 มีซัปพลายสะสมอยู่ประมาณ 20,000 ยูนิต คาดว่าในปี 2564 จะมีซัปพลายสะสมในพื้นที่เพิ่มเป็น 28,500 ยูนิตหลังจากที่โครงการที่เปิดตัวใหม่เริ่มก่อสร้างแล้วเสร็จ ในจำนวนนี้กว่า 30% หรือประมาณ 8,500 ยูนิต เป็นคอนโดฯ ซื้อเพื่อการลงทุนปล่อยเช่า
3. ราคาขายต่อตารางเมตรปรับตัวสูงขึ้นกว่า 39% สาเหตุก็มาจากต้นทุนที่ดินขยับสูงขึ้น จากเดิมที่ในช่วงก่อนปี 2554 ราคาขายเฉลี่ยห้องชุดอยู่ที่ 62,000 บาทต่อ ตร.ม. เพิ่มมาอยู่ที่ 102,000 บาทต่อ ตร.ม. ประกอบกับ 4. ภาษีโรงเรือน ที่มีผลต่อราคาขายคอนโดฯ และยังทำให้เม็ดเงินเข้าสู่ กทม.เพิ่มขึ้นกว่า 11% หรือเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีรายได้จากการจัดเก็บภาษี 592 ล้านบาทเพิ่มเป็น 665 ล้านบาท นอกจากโครงการรถไฟฟ้าแล้ว ผังเมืองรวม กทม.ฉบับปี 2556 ยังเป็นตัวผลักดันให้ตลาดคอนโดฯมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยผังเมืองฉบับดังกล่าวมีส่วนสนับสนุนตลาด คอนโดฯ
ในด้านของราคาสำหรับการปล่อยเช่าห้องชุดในพื้นที่นี้มีช่วงห่างกันมากที่สุดคือ ในย่านสถานีท่าพระ มีห้องชุดปล่อยเช่าตั้งแต่ 8,000-15,000 บาทต่อเดือน เนื่องจากเป็นจุดที่มีโครงการห้องชุดหนาแน่นที่สุด จึงทำให้มีการแข่งขันค่อนข้างสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ ส่วนพื้นที่ที่มีห้องเช่าชุดเกาะกลุ่มกันมากที่สุดคือทำเลที่เป็นจุดตัดของเส้นรถไฟฟ้าอย่างสถานีบางขุนนนท์ สถานีจรัญสนิทวงศ์ 13 สถานีแยกไฟฉาย โดยค่าเช่าห้องชุดเฉลี่ยจะอยู่ที่ 14,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้สถานีที่สามารถทำค่าเช่าได้สูงสุดคือ สถานีบางขุนนนท์ และสถานีท่าพระ ซึ่งสามารถปล่อยเช่าได้สูงสุดประมาณ 18,000 บาทต่อเดือน แต่อัตราการปล่อยเช่าจะช้ากว่า ห้องชุดระดับราคา 7,000 -8,000 บาทต่อเดือน
เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับข่าวที่พี่หมีนำมาฝากในวันนี้ อย่างที่บอกว่าพี่หมีเองก็เกาะติดพอสมควรกับรถไฟฟ้าย่านฝั่งธน อีกอย่างพื้นที่แถบนั้นมีกลุ่มผู้เช่าเป็นกลุ่มใหญ่เลยนะ เพราะเป็นทำเลที่มีพื้นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยอย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศิริราช ราชภัฏฯ เชื่อว่าคงมีกลุ่มข้าราชการด้านการแพทย์ พนักงาน นักศึกษา กระจายตัวอยู่ในพื้นที่นี้จำนวนมาก ซึ่งจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่เป็นเป้าหมายของผู้ประกอบการนั่นเอง