หลังจากเปิด Lido Connect grand opening อย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ไปหมาดๆ ซึ่งถึงแม้เราจะพลาดสำหรับงานเปิดตัวของเค้าไปอย่างน่าเสียดาย แต่ก็ช่างปะไร ประเด็นหลักของมันไม่ได้อยู่ตรงนั้น
ขอท้าวความแรงๆแบบย้อนกลับไปในยุคแรกเริ่มก่อนเลย แต่แรกเริ่มเดิมที ลิโด้ หรือ ลิโด มัลติเพล็กซ์ สมัยก่อนนั้น ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นโรงภาพยนตร์เมื่อปี 2511 โดยชื่อนี้มีที่มาจากโรงละครคาบาเร่ต์โชว์ Le Lido ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศษ ในขณะนั้น “ลิโด” เป็นโรงภาพยนตร์ที่สามารถบรรจุผู้ชมได้ถึง 1,000 ที่นั่ง โดยได้ทำการฉายภาพยนตร์รอบปฐมทัศน์ด้วยเรื่อง Guns For San Sebastian เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2511 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของ “ลิโด มัลติเพล็กซ์”
ผ่านร้อนมากว่าสองทศวรรษ
ผ่านร้อนที่พูดถึง ไม่ได้มีความหมายที่บ่งบอกถึงระยะเวลาเพียงเท่านั้น แต่ในที่นี้ยังมีความหมายที่ร้อนระอุด้วยเหตุเพลิงไหม้เมื่อปี พ.ศ. 2536 ซึ่งเป็นเหตุให้ลิโด ต้องปิดเพื่อทำการปรับปรุงเป็นระยะเวลากว่า 1 ปี ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากโรงภาพยนต์ที่เคยจุผู้ชมนับพัน ต้องแยกเป็นโรงเล็กๆ 3 โรง โดยที่โรง 1 จุผู้ชมได้ 147 ที่นั่ง โรง 2 และ โรง 3 จุได้ 243 ที่นั่งเท่ากัน ส่วนพื้นที่ชั้นล่าง ถูกแบ่งเป็นพื้นที่สำหรับร้านค้าให้เช่าขายของ
นอกกระแสภายในลิโด
ว่ากันว่าภาพยนตร์ถือเป็นศาสตร์แห่งศิลปะจัดอยู่ในแขนงที่ 5 แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับ ความชอบ สไตล์ที่แตกต่างของภาพยนตร์แต่ละแนวคือจุดเด่นที่ทำให้มนุษย์โลกหลงไหลศิลปะแขนงนี้เป็นอย่างมาก แน่นอนว่าความแตกต่างที่ถูกแบ่งแยก ย่อมส่งผลต่ออุตสาหกรรมของโรงภาพยนตร์ หากภาพยนต์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จและเข้าถึงผู้ชมได้ง่าย แน่นอนว่าเราจะสามารถดูหนังเรื่องนี้ได้อย่างง่ายดาย เพราะโรงภาพยนตรฺเกือบทุกที่ ต้องนำมาลงในรอบฉายอย่างแน่นอน เอ้า!!แล้วถ้าหนังที่เราชอบมันไม่แมส หรือ ไม่เป็นที่นิยมในบรรดาคนหมู่มากล่ะ? นั่นแหละ ลิโด จึงเป็นคำตอบของกลุ่มคนที่ชื่นชอบหนังนอกกระแสเหล่านี้แหละ โดยที่ลิโด เองมักจะนำหนังเหล่านี้มาเข้าฉาย ไปโรงไหนไม่เจอ ลองมาดูที่ลิโดก่อน
หลังจากวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 วันสุดท้ายของการฉายภาพยนตร์จากหลายๆเหตุผลทางด้านธุรกิจ ลิโดประกาศยุติการให้บริการและได้จัดการฉายภาพยนต์ 2 เรื่องได้แก่ Kids on the Slope และ Tonight, at Romance Theater
เอาล่ะ พอจะหวนระลึกถึงวันวานครั้งที่เค้ายังเป็น ลิโด มัลติเพล็กซ์ พอหอมปากหอมคอ ในวันนี้ ลิโดกลับมาอีกครึ้ง ภายใต้ลิโด้ คอนเน็กซ์ จากยุค 60’s-70's มาจนถึงปัจจุบัน เรามาดูกันว่า นอกจากไม้โทที่เพิ่มมาแล้ว ลิโด้ โฉมใหม่ มีอะไรเปลี่ยนไปบ้างนะ
LOVEiS x จุฬา
การกลับมาครั้งนี้ของเพื่อนเก่าที่เราคุ้นเคยอย่าง ลิโด้ นั้น มีสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้นอย่างแน่นอน อย่างที่เราทราบกันเป็นอย่างดีว่า ผู้ถือสัมปทานในพื้นที่ย่านสยามสแควร์ อันเป็นพื้นที่ตั้งของลิโด้ คือ สำนักงานจัดการทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) นั่นเอง ซึ่งทางจุฬาเองมีวิสัยทัศน์ที่ต้องการให้ย่านสยามสแควร์ยังคงเป็นแหล่งรวบรวมศิลปวัฒนธรรม และเป็นแหล่งรวมไลฟ์สไตล์และความคิดสร้างสรรค์สำหรับคนรุ่นใหม่ ซึ่งทางจุฬาได้จับมือกับ LOEViS Entertainment ซึ่งเราคิดว่าเป็นหนึ่งในค่ายเพลงที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดีแน่นอน จากค่ายเล็กๆผู้เป็นต้นแบบของหลายๆค่ายในปัจจุบัน โดยเดิมทีเค้ามีชื่อว่า Bekery Music (ค่ายของบอย โกสิยพงษ์) โดยค่ายเพลงนี้เองก็มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่สยามสแควร์แห่งนี้นั่นเอง การพลิกโฉมลิโด มัลติเพล็กซ์ สู่ ลิโด คอนเน็คท์ (Lido Connect) ให้กลายเป็นแหล่งรวบรวมศิลปะ วัฒนธรรม และ ความคิดสร้างสรรค์และเพื่อเชื่อมโยง เป็น Connection Hub ทุกรูปแบบ แต่ก็ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของลิโด้ไว้เช่นเดิม
ไม้โทมาจากไหน?
เดิมที Lido เขียนเป็นภาษาไทยว่า “ลิโด” แต่คนไทยทั่วไปกลับออกเสียงว่า ลิโด้ มาตั้งแต่แรก ซึ่งการเติมไม้โทไปในครั้งนี้ คล้ายจะสื่อว่า ได้เพิ่มเติมสิ่งที่จะทำให้มากขึ้นไปอีกสองเท่า โดยตั้งใจให้กลายเป็นพื้นที่ของการแสดงออกทางด้านศิลปะวัฒนธรรมแบบหมุนเวียนไม่ว่าจะเป็นละครเวที คอนเสิร์ต นิทรรศการต่างๆเป็นต้น
โดยที่โรงภาพยนตร์ของ ลิโด้ ยังคงอยู่ไว้เช่นเดิม เพียงแต่บางส่วนของลิโด้โฉมใหม่นั้น ได้มีการปรับภายในโรงภาพยนตร์ให้เข้ากับการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้นและแน่นอนว่าก็ยังคงให้ความรู้สึกของโรงภาพยนต์เดิมในยุค 70’s ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นของลิโด้ และ การตกแต่งภายนอกที่ให้กลิ่นอายเบาๆของยุค 90’s เช่นเดียวกัน ภายใต้คอนเซ็ปต์ Back to Original
บริเวณชั้น 1 ของลิโด้ยังคงเปิดเป็นพื้นที่เพื่อการค้าขาย หรือ พื้นที่เพื่อการพาณิชย์นั่นเอง เอาจริงๆ เราแอบไปเดินเล่นมาสองครั้งแล้วนะ ค่อนข้างชอบเลยล่ะ เพราะ เค้าเปิดเป็นพื้นที่โล่งกว้าง(คาดว่าสำหรับการจัดกิจกรรมได้) โดยรอบมีร้านรวงทั้งที่เราคุ้นเคย และ ร้านเปิดใหม่คละเคล้ากันไป ส่วนชั้น 2 ก็ยังคงเป็นโรงหนังจำนวน 3 โรงอย่างที่เราได้บอกไว้นั่นแหละ
อย่างร้าน LIDO DVD ที่สมัยเรียนมหาลัย เวลาอาจารย์สั่งให้ไปดูหนัง บางเรื่องที่หาดูไม่ได้เลย เรามักจะแวะมาหาที่ร้าน LIDO DVD ก่อนเสมอ จนทุกวันนี้เราก็ยังคงแวะมาอยู่เป็นประจำ ถือว่า เป็นอีกร้านเก่าแก่ที่อยู่เคียงข้างลิโด้มาอย่างยาวนานเลยทีเดียว
ลิโด้ ในวันที่กลายเป็นแหล่งรวมของคาเฟ่หลากสไตล์ เชิญให้ได้ไปเช็คอิน และลิ้มลองกัน
เราชอบตรงที่เค้าเอาที่นั่งในโรงหนังมาไว้เป็นที่นั่งสำหรับการให้บริการนะ เสน่ห์เล็กๆน้อยๆที่บ่งบอกต้นกำเนิดของลิโด้เค้าจริงๆ หรือ ว่าป้ายบอกทาง เอาจริงๆ ประทับใจอะไรเล็กๆน้อยๆแบบนี้มากเลย
จนถึงวันนี้ ลิโด้ มีกิจกรรมหลากหลายอย่างที่เค้าเคลมไว้จริง(เยอะมาก) ซึ่งตอนนี้ก็สามารถติดตามกิจกรรมความเคลื่อนไหวของเค้าได้ที่ทาง
เพจ Facebook ของ
ลิโด้ ได้เลย ซึ่งข่าวสารต่างๆก็จะมีการอัพเดทอยู่เรื่อยๆ
โดยส่วนตัวเราเชื่อว่า การกลับมาของลิโด้ ถือเป็นการกลับมาอย่างสมศักดิ์ศรี จากที่ได้ไปมาแค่สองครั้ง ยังมีความรู้สึกว่า เอาล่ะ เดี๋ยวฉันจะต้องกลับมาอีกให้ได้แน่ๆ เพื่อนๆชาวคอนโดติดดอยคนไหน คิดถึงเพื่อนเก่าที่ชื่อว่า “ลิโด มัลติเพล็กซ์” ก็อย่าลืมกลับมาเยี่ยมเยียนเค้าอีกครั้งได้ ภายใต้ชื่อใหม่อย่าง ลิโด้ คอนเน็คซ์ กันล่ะ