หลายๆคราวที่พี่หมีมักจะนำข่าวเกี่ยวกับเรื่องของปัญหาทางธรรมชาติที่ต้องเจออย่างเรื่องของ โลกร้อน ซึ่งพักหลังๆมานี้ เรามักจะได้ยินข่าวกันอยู่บ่อยครั้ง เช่นเดียวกันกับหลาย ๆ องค์กรที่ออกมาตอบรับกระแสนี้ กับการใช้แคมเปญต่างๆหรือจัดงานต่างๆเพื่อสอดคล้องกับเทรนด์รักษ์โลก ซึ่งพี่หมีว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากทีเดียว
ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน เพราะวันนี้มาถึงคิวของ แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ MQDC ที่ล่าสุด เค้าได้จัดงาน UPCYCLING FOR A BETTER WORLD 2019 เพื่อ ตอกย้ำแนวคิด Sustainnovation อีกด้วย
ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) โดย บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ที่มุ่งมั่นในการสร้างและพัฒนาแนวคิดผ่านนวัตกรรมจากความร่วมมือกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้แนวทาง ‘Sustainnovation’ คือการค้นหานวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างความยั่งยืนในทุกโครงการของ MQDC ในการนำวัสดุเหลือใช้กลับมาทำให้เกิดประโยชน์ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ร่วมกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ซึ่งมีการนำหลัก Circular Economy มาปรับใช้พร้อมสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนหันมาใช้ชีวิตในรูปแบบ GC Circular Living และพันธมิตรจากหลากหลายวงการ จัดงานแถลงข่าวและเปิดงาน UPCYCLING FOR A BETTER WORLD 2019 การแสดงผลงานการออกแบบและพัฒนานวัตกรรมจากกระบวนการ Upcycling เปลี่ยนวัสดุเหลือใช้สู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสามารถใช้งานจริงในที่อยู่อาศัย
โดยมีไฮไลท์คือการเปิดตัวพรมทอมือที่ทำจากขยะขวดพลาสติกจากท้องทะเลครั้งแรกของโลก พร้อมการเสวนา UPCYCLING FOR A BETTER WORLD จากตัวแทนแต่ละภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อน ตั้งแต่ปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อมไปจนถึงการส่งเสริมให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์ Upcycled จริง ณ เฮลิกซ์ การ์เด้น ชั้น 5 ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์
ซึ่งทาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) กล่าวว่า “ความมุ่งมั่นตั้งใจของ MQDC นับตั้งแต่เริ่มต้นบริษัทภายใต้แนวคิด For all Well-being เรารู้ว่าการก่อสร้างอาคารหนึ่งหลังใช้ทรัพยากรจำนวนมาก และสร้างขยะจำนวนมากเช่นกัน ที่ผ่านมา MQDC พยายามหารูปแบบการก่อสร้างสมัยใหม่มาใช้ในอาคารของเราทุกโครงการ เพื่อลดปริมาณขยะ แต่ยังคงไว้ซึ่งคุณภาพของการก่อสร้างที่ดีเยี่ยมจนเราได้รับข้อมูลเรื่องวัสดุก่อสร้างในรูปแบบ Upcycling ที่ทำจากขยะ จากทีมวิจัยของ RISC โดย MQDC และพันธมิตร จึงได้ร่วมกันพัฒนานวัตกรรม Upcycling เพื่อใช้ในโครงการต่าง ๆ ด้วยการใช้วัสดุก่อสร้างจากขยะพลาสติก เช่น อิฐปูทางเท้า พื้นปูถนน ที่รับน้ำหนักและทนทานไม่ต่างจากอิฐหรือบล็อกปูถนนปกติที่ใช้กันอยู่ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในไทยที่วงการอสังหาริมทรัพย์นำพลาสติกที่ผ่านกระบวนการ Upcycling มาใช้เป็นวัสดุก่อสร้างในโครงการ และยังเตรียมขยายการใช้พลาสติกมาเป็นส่วนผสมของวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ อีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นมิติใหม่ของการก่อสร้าง และเราเชื่อว่าจะทำให้อสังหาริมทรัพย์เติบโตควบคู่ไปกับสิ่งแวดล้อมที่ดีได้”
“จึงผนึกกำลังกับพันธมิตร Upcycling ในการนำวัสดุที่ใช้แล้ว นำไปพัฒนาเป็นองค์ประกอบอาคารส่วนต่างๆ ให้กับอสังหาริมทรัพย์ในโครงการต่าง ๆ ทั้งภายในอาคารจนถึงภายนอกอาคาร ตั้งแต่ผนังห้อง หลังคา เฟอร์นิเจอร์ ทางเดินเท้า และส่วนตกแต่งพื้นที่สีเขียวของโครงการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย "เศรษฐกิจแบบหมุนเวียน"
อีกทั้งทางหัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบันนี้ทุกคนทราบกันดีว่าโลกมีปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้นจนไม่สามารถกำจัดหมด RISC ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยที่ให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและการแบ่งปันองค์ความรู้ ที่มีนักวิจัยหลากหลายด้าน จึงได้ร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรในการคิดค้น และพัฒนาแนวทางวิธีการกำจัดขยะ โดยนำนวัตกรรมกับเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้เพื่อช่วยลดปัญหาขยะและเพิ่มมูลค่าให้กับขยะหลากหลายรูปแบบ”
“เรามีการวิจัยเรื่องการนำกระบวนการ Upcycling มาออกแบบและสร้างเป็นผลิตภัณฑ์จากขยะให้มีมูลค่าเพิ่ม (Upcycle Up Value) ซึ่งผลงานที่พัฒนาและคิดค้นขึ้นนี้มีความสวยงามไม่ต่างจากผลิตภัณฑ์ใหม่และสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง โดยในวันนี้เรามีผลงานและนวัตกรรมบางส่วนมาจัดแสดงในงาน โดยเฉพาะพรมทอมือที่ทำจากขยะขวดพลาสติกจากท้องทะเลครั้งแรกของโลก และงานออกแบบและผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยผลงานทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น ซึ่ง RISC ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากองค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ช่วยกันพัฒนาต่อยอดผลงานในการผลิตเชิงอุตสาหกรรมต่อไป และผมมองว่าถ้าทุกคนร่วมมือกัน ตามความถนัดหรือความเชี่ยวชาญของตนเอง ทุกคนก็จะสามารถช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้โลกของเราได้”
นับว่าเป็นอีกหนึ่งงานที่ดีและมีคุณค่ามากๆเลยนะเนี้ย เพราะนอกจากจะรักษ์โลกแล้ว ยังเป็นการช่วยลดขยะพลาสติก และเพิ่มมูลค่าให้ขยะพร้อมสร้างสรรค์ไปในตัวอีกด้วย