ชาวคลองสานค้านสร้างรถไฟฟ้าสายสีทอง เหตุเอื้อเอกชน ไม่ใช่เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ด้านกทม.ยัน ไอคอนสยาม ยังสนันสนุนโครงการ พร้อมเดินหน้า คาดตามแผนเกิดได้ปี 61
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 18 ก.พ. ที่โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน เขตคลองสาน
นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่งกรุงเทพมหานคร(กทม.) เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โครงการศึกษาความเหมาะสม โครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทอง
นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า
พื้นที่ย่านฝั่งธนบุรี เป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยจำนวนมาก มีประชาชนเพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรในพื้นที่
โดยพื้นที่ในเขตคลองสานและเขตธนบุรีปัจจุบันมีปริมาณจราจรโครงข่ายในพื้นที่สูงถึง 220,000 คันต่อวัน
ซึ่งพื้นที่ถนนเจริญนคร เป็นพื้นที่หนึ่ง ที่มีการพัฒนาที่อยู่อาศัย และอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่
ปัจจุบันถนนเจริญนคร มีปริมาณรถหนาแน่น กว่า 7,000 คัน ต่อชั่วโมง
ในขณะที่ถนนนั้นสามารถรองรับรถได้เพียง 6,700 คันต่อชั่วโมงเท่านั้น จึงส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด และเมื่อมีการพัฒนาที่อยู่อาศัย อีกทั้งจะเกิดศูนย์การค้าขนาดใหญ่
จะมีประชาขนเข้าสู่พื้นที่มากยิ่งขึ้น ปัญหาการจราจรบนถนนดังกล่าว ก็จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
กทม.ได้ทำการศึกษาแนวทางเพิ่มระบบขนส่วนมวลชนระบบรอง
เพื่อเชื่อมต่อกับระบบหลักคือรถไฟฟ้าสายสีเขียว และรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่กำลังจะแล้วเสร็จ
เพื่อเป็นการรองรับการเติบโตของประชาชนและเมือง ลดปัญหาการจราจร โดยเรียกว่าระบบรถไฟฟ้าสายสีทอง
นายทวีศักดิ์กล่าวต่อว่า รถไฟฟ้าสายสีทองจะเป็นรถไฟฟ้าสายรอง ในรูปแบบเบาหรือโมโนเรล ซึ่งจะก่อสร้างในพื้นที่เกาะกลางถนน
จึงไม่มีการเวนคืนพื้นที่จากประชาชนในการดำเนินโครงการ
ทั้งนี้ ตามที่กทม.ได้รับการประสานจากภาคเอกชนคือ กลุ่มบริษัทไอคอนสยาม
ซึ่งกำลังก่อสร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่ในพื้นที่ จึงจะสนับสนุนการก่อสร้างโครงการดังกล่าวนั้น
ขณะนี้ทางกลุ่มบริษัทไอคอนสยาม ก็ยังคงยืนยันที่จะให้การสนับสนุนโครงการเช่นเดิม
แต่การสนับสนุนโครงการจะเป็นไปในรูปแบบใดนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาศึกษาแนวทางในการลงทุนโครงการ
ซึ่งจะได้ผลการศึกษาที่แน่ชัดในปลายเดือนมี.ค.นี้
ในที่ประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนนั้น
ประชาชนส่วนใหญ่ ต่างแสดงความคิดเห็นเป็นกังวลถึงโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทอง
เนื่องจากอาจเป็นโครงการที่ทำขึ้นเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อภาคเอกชน รวมทั้งกังวลเรื่องมลพิษขณะก่อสร้าง
อีกทั้งปัญหาผลกระทบเมื่อโครงการเกิดขึ้นจะส่งผลต่อกายภาพของถนนในบริเวณดังกล่าวที่ค่อนข้างแคบ
อีกทั้งในบริเวณนี้ยังเป็นย่านพื้นที่เก่าแก่มีวิถีชุมชนดั้งเดิม
หนึ่งในประชาชนที่ร่วมแสดงความคิดเห็น กล่าวว่า
โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง เป็นโครงการที่กทม.อ้างว่า อยู่ในแผนแม่บทของกทม. มาเป็นเวลานานแล้ว
โดยทำการศึกษามาตั้งแต่ ปี2552 แต่ในแผนแม่บทผังเมือง กลับไม่มีโครงการดังกล่าวปรากฎอยู่แต่อย่างใด
จึงอยากให้กทม.ชี้แจงว่า รถไฟฟ้าสายสีทอง เป็นโครงการที่ทำขึ้นเพื่อผลประโยนช์ของภาคเอกชน ไม่ใช่เพื่อประชาชนอย่างแท้จริงใช่หรือไม่
อีกทั้งระยะห่างจากสถานีในเส้นทางสายสีทองระยะแรก
มีการกำหนดไม่เหมาะสม มีการกำหนดสถานีเอื้อต่อพื้นที่ของเอกชน แต่ละสถานีมีระยะที่ไม่เหมาะสม
โดยสถานีที่สองบริเวณถนนเจริญนคร และสถานีที่สามบริเวณโรงพยาบาลตากสิน มีระยะห่างเพียง 200 เมตร เท่านั้น
นอกจากนี้ในแนวถนนเส้นทางรถไฟฟ้า เป็นถนนที่มีขนาดเล็ก อาทิ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา มีความกว้างเพียง 4 ช่องจราจรไปกลับ
การก่อสร้างรถไฟฟ้า จะส่งผลให้เส้นทางแคบลง และอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตของประชาชนอย่างมาก
ดังนั้นหาก กทม.ตั้งใจจะดำเนินโครงการดังกล่าว ภาคประชาชนชาวคลองสานเสนอให้ทำเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินจะเหมาะสมที่สุด
ทั้งนี้สำหรับรายละเอียดโครงการรถไฟฟ้าสายดังกล่าว
เป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทอง (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-เขตคลองสาน-ประชาธิปก) เชื่อมต่อ ระบบการเดินทางด้วย รถ ราง เรือ
การเชื่อมต่อรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในพื้นที่ มีทั้งหมด 3 สายทาง ประกอบด้วย
รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า (เปิดให้บริการแล้ว)
รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการในช่วงปลายปี 2565)
รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงหัวลำโพง-บางบอน-มหาชัย (คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการปี 2566)
นอกจากนี้ยังเชื่อมต่อระบบรองอื่นๆ ได้แก่ เรือด่วนเจ้าพระยา เรือข้ามฟาก และรถโดยสารประจำทาง
เส้นทางโครงการ เริ่มต้นจากสถานีรถไฟฟ้า BTS กรุงธนบุรี ผ่านแยกคลองสาน ไปยังถนนประชาธิปก ระยะทาง 2.7 กิโลเมตร ประกอบด้วย 4 สถานี
โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร มี 3 สถานี
เริ่มต้นจากสถานีกรุงธนบุรี (G1) ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยายกรุงธนบุรี โดยแนวเส้นทางจะมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก บนเกาะกลางถนนกรุงธนบุรี แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนเจริญนคร
จากนั้นมุ่งหน้าเข้าสู่สถานีเจริญนคร (G2) ตั้งอยู่บริเวณสะพานข้ามคลองวัดทองเพลง แล้วมุ่งหน้าต่อไปยังแยกคลองสาน เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนสมเด็จเจ้าพระยา
โดยแนวเส้นทางจะเบี่ยงไปอยู่เหนือแนวทางเดินเท้าด้านซ้ายฝั่งคลองสมเด็จเจ้าพระยา เข้าสู่สถานีคลองสาน (G3) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเยื้องกับโรงพยาบาลตากสิน
โดยมีทางเดิน (Sky walk) เพื่อให้สามารถเดินทางเข้าสู่โรงพยาบาลตากสินได้โดยตรง และในอนาคตสถานีคลองสาน (G3) จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงหัวลำโพง-บางบอน-มหาชัย
ส่วนระยะที่ 2 ระยะทาง 0.9 กิโลเมตร มี 1 สถานี
เริ่มต้นจากสถานีคลองสาน (G3) มุ่งหน้าต่อไปตามแนวทางเดินเท้าของถนนสมเด็จเจ้าพระยา จนไปถึงสถานีประชาธิปก (G4) ตั้งอยู่บริเวณซอยสมเด็จเจ้าพระยา 6 กับซอยสมเด็จเจ้าพระยา 8
ซึ่งในอนาคตจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ
คาดมีผู้ใช้บริการในระยะที่ 1 ในปี 2561 ประมาณ 47,300 เที่ยวคน/วัน และในระยะที่ 2 ในปี 2566 ประมาณ 81,800 เที่ยวคน/วัน
สำหรับผลการศึกษาด้านเศรษฐกิจพบว่า มีความเหมาะสมในการลงทุน
โดยมีอัตราส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (Economic Internal Rate of Return : EIRR) ร้อยละ 28.5 มูลค่าการลงทุน 3,845.70 ล้านบาท
แบ่งเป็นระยะที่ 1 มูลค่าการลงทุน 2,512.60 ล้านบาท ระยะที่ 2 มูลค่าการลงทุน 1,333.11 ล้านบาท
โดยคาดว่าเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2561 จะประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายในการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และประหยัดเวลาในการเดินทาง มูลค่าประมาณ 830 ล้านบาท/ปี และเพิ่มขึ้นเป็น 2,417 ล้านบาท/ปี ในปี 2581
โดยคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการในระยะที่ 1 ในปี 2561 ประมาณ 47,300 เที่ยวคน/วัน
และในระยะที่ 2 ในปี 2566 ประมาณ 81,800 เที่ยวคน/วัน
นอกจากนี้ในอนาคต (พ.ศ.2579) คาดว่าจะมีปริมาณผู้ใช้บริการรวมในโครงข่ายรถไฟฟ้าทั้งหมดของกรุงเทพมหานคร ประมาณ 7,680,000 เที่ยวคน/วัน