ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
น่าสนใจไม่น้อยกับคำบัญชาของ "บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี สั่งการให้สร้างที่จอดรถเพิ่ม ดึงคนทิ้งรถส่วนตัวมาใช้บริการรถไฟฟ้าแทน ทางหนึ่งหวังผลลึก ๆ ไปถึงแก้ปัญหาการจราจรเมืองกรุงที่วิกฤตหนัก
นับเป็นแนวคิดที่ดี หาก "รัฐบาล คสช." ผลักดันได้สำเร็จ เพราะปัจจุบันจุดจอดรถใกล้รถไฟฟ้าหายาก หากเพิ่มให้มากขึ้น โดยเฉพาะจุดต้นทาง-ปลายทาง จะเป็นการจูงใจให้คนปรับโหมดการเดินทางจากรถมาสู่ระบบรางมากขึ้น
ปัจจุบันมีที่จอดรถใกล้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสมีอยู่ 3 สถานี คือ
1.สถานีหมอชิต เป็นลานจอดรถฟรีบริเวณพื้นที่หมอชิตเก่า จอดได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 05.00-01.00 น. ประมาณ 1,500 คัน
2.สถานีเพลินจิต อาคารเวฟเพลส ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 06.00-22.00 น. โดยไม่คิดค่าบริการ ถ้าเป็นวันธรรมดาเสียค่าที่จอดรถชั่วโมงละ 30 บาท
และ 3.สถานีอ่อนนุช อาคารเอเชียพาร์ค สุขุมวิท 81 เปิดบริการ 06.00-24.00 น. จอดได้ประมาณ 300 คัน อัตราค่าบริการชั่วโมงแรก 15 บาท เกิน 1 ชั่วโมงคิดอัตราเหมาจ่ายรวมทั้งวัน 65 บาท หรือเหมาจ่ายรายเดือน จอดเฉพาะจันทร์-ศุกร์ เดือนละ 1,000 บาท
"รถไฟฟ้าใต้ดิน" มีบริการที่จอดรถ 12 แห่ง รวม 2,979 คัน ประกอบด้วย
1. อาคารจอดรถ 9 ชั้น สถานีลาดพร้าว จอดรถได้ 2,200 คัน
2. ลานจอดรถ สถานีรัชดาภิเษก 75 คัน
3. ลานจอดรถ สถานีห้วยขวาง 73 คัน
4. ลานจอดรถ สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย 30 คัน (เฉพาะรายเดือน)
5. อาคารจอดรถ 3 ชั้น สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย 205 คัน
6. ลานจอดรถ สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (ปากซอยรัชดาภิเษก 6) 106 คัน (เฉพาะรายเดือน)
7. ลานจอดรถ สถานีพระราม 9 (รัชดาภิเษก ซอย 2) 50 คัน
8. ลานจอดรถ สถานีเพชรบุรี 54 คัน
9. ลานจอดรถ สถานีสุขุมวิท 33 คัน
10. ลานจอดรถ สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 79 คัน
11. ลานจอดรถฝั่งตรงข้ามศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 42 คัน (เฉพาะรายเดือน)
12. ลานจอดรถ สถานีสามย่าน 32 คัน
"แอร์พอร์ตลิงก์" มีที่จอดรถ 6 แห่ง รวม 1,290 คัน
1. สถานีพญาไท 10 คัน
2. สถานีราชปรารภ 30 คัน
3. สถานีมักกะสัน 350 คัน
4. สถานีหัวหมาก 350 คัน
5. สถานีบ้านทับช้าง 50 คัน
6. สถานีลาดกระบัง 500 คัน และอีก 7 สายใหม่รับได้ 1.7 หมื่นคัน
ส่วนที่จอดรถตามแนวรถไฟฟ้าสายใหม่ "สีม่วง" ช่วงบางใหญ่-เตาปูน จะเปิดบริการอย่างไม่เป็นทางการเดือน พ.ค.นี้ มีอาคารจอดรถ 4 แห่ง รวม 5,520 คัน ได้แก่ สถานีคลองบางไผ่ 1,900 คัน สถานีสามแยกบางใหญ่ 1,450 คัน สถานีบางรักน้อยท่าอิฐ 1,070 คัน และสถานีนนทบุรี 1 ที่ล่าสุดกระทรวงคมนาคมปรับแบบก่อสร้างจากเดิมจอดได้ 430 คัน เป็น 1,100 คัน
"สีน้ำเงินส่วนต่อขยาย" ช่วงบางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค จะเปิดบริการเดือน เม.ย. 2562 มีที่สถานีหลักสอง จำนวน 2 อาคาร จอดได้ประมาณ 1,000 คัน แยกเป็นอาคาร 10 ชั้น 650 คัน และอาคาร 8 ชั้น 350 คัน
ด้าน "สีเขียวต่อขยาย" ช่วง "แบริ่งสมุทรปราการ" จะเปิดบริการทั้งเส้นทางเดือน ก.พ. 2561 มีที่จอดรถ 1 แห่งที่สถานีเคหะสมุทรปราการ 1,200 คัน และ "ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต" จะเปิดบริการเดือน ก.พ. 2563 มีที่จอดรถ 2 แห่ง รวม 1,755 คัน ที่สถานี กม.25 จอดได้ 1,042 คัน และอยู่ใกล้สถานีคูคต 713 คัน
ขณะที่สาย "สีแดง" ช่วง "บางซื่อ-รังสิต" เปิดบริการปี 2563 มีที่จอดรถ 1 แห่ง อยู่ใต้ดินสถานีกลางบางซื่อ จอดได้ 1,700 คัน
"สีชมพู แคราย-มีนบุรี" เปิดบริการปี 2563 มีที่จอดรถ 1 แห่ง สถานีมีนบุรี 3,000 คัน จะใช้ร่วมกับสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ตามแผนจะเปิดบริการปี 2565 และมีที่จอดรถเพิ่มอีก 1 แห่ง จอดได้ประมาณ 1,200 คัน ส่วน "สีเหลืองลาดพร้าว-สำโรง" จะเปิดบริการปี 2563 มีที่จอดรถที่สถานีศรีเอี่ยม 5,000 คัน
สุดท้าย "สีม่วงส่วนต่อขยาย" จากเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ เปิดปี 2565 มี 2 แห่ง รวม 3,400 คัน ที่สถานีบางปะกอก เป็นอาคาร 10 ชั้น จอดได้ 1,700 คัน และสถานีราษฎร์บูรณะ เป็นอาคาร 8 ชั้น จอดได้ 800 คัน และอาคาร 10 ชั้น จอดได้ 900 คัน
รฟม.จ้างเอกชนบริหารสายสีม่วง
สำหรับการให้บริการอาคารจอดรถแนวสายสีม่วงที่จะเปิดบริการเดือน พ.ค.นี้ รฟม.จะบริหารจัดการเอง โดยจ้างบริษัทเอกชนที่มีประสบการณ์มาจัดเก็บให้ เนื่องจาก รฟม.จะต้องควบคุมการเก็บค่าจอดรถไม่ให้แพงเกินไป ซึ่งการเก็บค่าจอดจะเป็นอัตราเดียวกับรถไฟฟ้าใต้ดิน โดยผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าทุก 2 ชั่วโมงเก็บ 15 บาท ส่วนผู้ไม่ได้ใช้บริการชั่วโมงละ 40 บาท ยกเว้นลานจอดรถสถานีเพชรบุรี สุขุมวิท และศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั่วโมงละ 50 บาท
หากรถไฟฟ้ามาตามนัดทุกเส้นทาง อนาคตธุรกิจรับจอดรถอาจจะเฟื่องฟูกว่าทุกวันนี้ก็เป็นไปได้ เพราะตามที่ประมาณการจะมีคนใช้บริการรถไฟฟ้าทั้งระบบ 5.36 ล้านเที่ยวคน/วัน