ในปัจจุบันนี้ เมืองหลวงของประเทศไทยเรา อย่างกรุงเทพมหานคร นับว่าเป็นมหานครหนึ่งที่สำคัญของโลกเลยก็ว่าได้นะ หมีเคยอ่านข่าวบ่อย ๆ ว่ากรุงเทพฯเนี้ย ติดอันดับเมืองหลวงที่น่ามาเที่ยวเกือบทุกปี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เมื่อความเจริญขยายตัวกว้างมากขึ้น ธรรมชาติก็ถดถอยลง พื้นที่สีเขียวในเมืองกรุงก็หายตาม
แต่ล่าสุด มีอีกหนึ่งงานนิทรรศการที่น่าสนใจ จนหมีอดไม่ได้ที่จะหยิบยกมาเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังนั่นก็คือ งานนิทรรศการสมาคมนักออกแบบเมืองไทยปี 2562 Shma โดยสิ่งที่หมีบอกว่ามันน่าสนใจเนี้ยคือเค้าเปิดตัว Bangkok Green Link ซึ่งเค้ามีจุดมุ่งหมายในการฟื้นฟูเมือง ส่งเสริมให้มหานครของคนไทยน่าอยู่มากยิ่งขึ้น กับเส้นทางสีเขียวกว่า 30 ไมล์ หรือให้เข้ากันง่าย ๆ ก็ 48 กิโลเมตรนั่นเอง
โดยสร้างโครงข่ายทางเชื่อมสีเขียวกลางกรุงเทพฯ ที่มาในแนวคิด “Revitalize City Infrastructure to Relink Urban Life” เชื่อมชีวิตผู้คน และคืนธรรมชาติให้แก่เมืองอีกครั้ง พร้อมพัฒนาศักยภาพต่างๆ ของเมืองให้มีคุณภาพขึ้นไปอีกขั้น ไม่ว่าจะเป็น เส้นทางคลอง ทางรถไฟ พื้นที่ใต้ทางด่วน และ ทางเท้า โดยให้เกิดการเชื่อมโยงพื้นที่สาธารณะ ย่าน และ เมือง เข้าด้วยกัน
อีกปัญหาหนึ่งที่ชาวเมืองหลวงต้องเจอก็คือเรื่องของการขนส่งสาธารณะ ที่จริง ๆ แล้วก็ไม่ได้มีมากเพียงพอนัก จนทำให้เกิดปัญหาตามมาอย่างเรื่องของรถติดนั่นเอง ซึ่งก็ไม่ได้ติดธรรมดา แต่เรียกได้ว่าติดอย่างสาหัสเลยทีเดียว พอรถยิ่งติด มลพิษก็ยิ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น แต่เพื่อทำให้กรุงเทพฯเป็นเมืองหลวงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้นทาง Shma เลยได้พัฒนา โครงการ Bangkok Green Link ด้วยแนวคิดของ “การฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานของเมืองเพื่อการเชื่อมโยงชีวิตในเมือง”
ซึ่งโครงการ Bangkok Green Link ยังได้เปรียบเสมือนหัวใจของกรุงเทพ โดยจะประกอบไปด้วยเส้นทางเดินรถใหม่ที่มีระยะทาง 54 กิโลเมตร เป็นเส้นทางวงแหวนรอบนอกระยะทาง 28 กิโลเมตรและเส้นทางครอสโอเวอร์ 26 กิโลเมตรและมีต้นไม้ใหญ่ที่มากถึง 10,800 ต้น ซึ่งต้นไม้จำนวนขนาดนี้จะสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละประมาณ 1,620 ตันและสามารถกรองฝุ่นได้ปีละ 3,580 ตัน โดยทางนักออกแบบเชื่อว่าการเพิ่มพื้นที่สีเขียว สามารถเพิ่มราคาที่ดินและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อยู่อาศัยในการใช้ชีวิตที่ดีและต่อสู้กับความร้อนในเมืองได้อีกด้วย ซึ่งจะได้รับการพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาคลอง, รถไฟ, ทางเท้าที่มีอยู่และพื้นที่ใต้ทางด่วนให้เกิดการเชื่อมโยงของพื้นที่สาธารณะ ย่านและเมืองเข้าด้วย
โดยในส่วนของเส้นทางวงแหวนรอบนอกนั้นก็จะประกอบไปด้วย 4 ทางเชื่อมหลัก ๆ เลยคือ ทางเชื่อมเมืองยาว 10 กม. โดยได้แบ่งออกเป็นอีก 6 ส่วน เพื่อใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ คือ ทางเชื่อมสาทร จะผ่านถนนสายสำคัญในเขตศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพฯ และ ในส่วนของการเชื่อมโยงทางรถไฟ จะทำการเปลี่ยนพื้นที่บริเวณข้าง ๆ ทางเลียบทางรถไฟ ให้กลายเป็นทางด่วนจักรยาน และ เส้นทางที่เชื่อมโยงถนนวิภาวดี ที่มีบริการลานจอดรถ มีมอเตอร์เวย์ที่เชื่อมระหว่างกรุงเทพชั้นในกับด้านเหนือของเมือง และส่วนของเส้นทางครอสโอเวอร์จะมีทางเชื่อมย่อย 8 จุด ในการเชื่อมต่อย่านอื่นๆที่ในปัจจุบันยังเข้าไปไม่ถึง
น่าสนใจมาก ๆ เลยทีเดียว หมีเชื่อ่า ถ้าหากมีการรวม 4 เส้นทางหลักที่ครอบคลุมวงแหวน มหานครของเราจะเป็นเมืองที่สามารถสร้างประโยชน์ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม สังคม ไปจนถึงเรื่องของเศรษฐกิจให้ดียิ่งขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน