การเติบโตของปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นของสนามบินดอนเมือง แต่ด้วยศักยภาพการให้บริการได้เฉพาะอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศอาคาร 1 เพียงอาคารเดียว รองรับผู้โดยสาร 18.5 ล้านคน แต่ต้องรองรับการเติบโตของผู้โดยสารเฉลี่ยปีร่วม 20-30 % สิ้นปี 2558 มีผู้โดยสารใช้บริการมากถึง 28.5 ล้านคน
ทำให้สนามบินต้องทยอยเปิดการให้บริการในโครงการขยายเฟส 2 ซึ่งเป็นส่วนของอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ อาคาร 2 เพื่อรองรับเที่ยวบินภายในประเทศ ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาและเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 5 (เพียร์ 5) เพื่อรองรับช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา ควบคู่ไปกับการปรับปรุงทั้งเรื่องของห้องน้ำ ร้านค้าต่างๆ ก่อนการเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสาร อาคาร 2 อย่างเป็นทางการในวันที่ 8 มีนาคมนี้
การเปิดใช้อาคารผู้โดยสาร อาคาร 2 ที่เกิดขึ้น ช่วยลดความหนาแน่นของสนามบินลงไปได้มาก เพราะอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 จะเหลือเฉพาะการให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศเท่านั้น ส่วนใครจะบินในประเทศ ก็ต้องไปใช้บริการอาคาร 2 ซึ่งอาคารนี้มีพื้นที่ 1.06 แสนตารางเมตร
ชั้น 1 เป็นพื้นที่ผู้โดยสารขาเข้าภายในประเทศและระบบขนส่งสาธารณะ
ชั้น 2 เป็นสำนักงานสายการบิน
ชั้น3 เป็นพื้นที่ผู้โดยสารขาออกภายในประเทศ มีเคาน์เตอร์เช็กอินจำนวนทั้งสิ้น 80 เคาน์เตอร์ (รวมเคาน์เตอร์บริการสำหรับผู้พิการจำนวน 10 เคาน์เตอร์) โดยระบบลำเลียงกระเป๋า สัมภาระ และเครื่องเอ็กซ์เรย์ ซึ่งจะเป็นระบบ Inline baggage Screening รูปแบบเดียวกับที่สนามบินสุวรรณภูมิ คือ ผู้โดยสารเข้าไปเช็กอินพร้อมนำกระเป๋าเข้าสายพานลำเลียง ณ จุดเช็กอินของสายการบินต่างๆ
ส่วนชั้น 4 เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งมี 276 ร้านค้า ที่ขณะนี้เข้ามาปรับปรุงพื้นที่เสร็จแล้วกว่า 80% มีทั้งการเปิดให้บริการของ 4 ธนาคารหลักของไทย อาหารและเครื่องดื่ม และห้องประชุมย่อยหรือ Co-Working Space ห้องพักชั่วคราวแบบ Sleep Box ที่มีห้องน้ำในตัวกว่า 20 ห้อง เป็นต้น ซึ่งคาดว่าทอท.จะมีรายได้จากการเปิดสัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ในส่วนนี้ไม่ต่ำกว่า 1.5 พันล้านบาทต่อปี
ดังนั้นพื้นที่ในชั้น 4 ของอาคาร 2 จึงเป็นจุดดึงดูดทั้งลูกค้าที่มาใช้บริการสนามบิน โดยไฮไลต์ใหม่จะอยู่ที่การลงทุนของมิราเคิล กรุ๊ป ได้แก่
Sleep Box by Miracle โรงแรมแนวใหม่ภายใต้แนวคิดเดียวกับโรงแรมแคปซูล มีทั้งหมด 25 ห้อง ห้องพักมีขนาด 15 ตร.ว. มีห้องน้ำในตัว สำหรับรองรับคนจากต่างจังหวัดที่จะมาพักก่อนต่อเครื่องบิน จะเริ่มเปิดให้บริการ 5 ห้องแรกในวันที่ 8 มีนาคมและจะเปิดครบ 25 ห้องราวสิ้นเดือนมีนาคม
Sleep Box Lounge สำหรับเป็นที่รับรองของแขกเข้าพักหรือพบปะทางธุรกิจ ซึ่งอัตราค่าใช้บริการกำลังอยู่ในขั้นตอนศึกษาความเหมาะสม
อีกทั้งในเร็วๆ นี้เตรียมจะเปิดให้บริการ Co-Working บนพื้นที่ 700 ตร.ม.ด้วยพื้นที่ทำงานและห้องประชุม พร้อมอุปกรณ์สำนักงานอันทันสมัย จะเป็นอีกหนึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการสนามบินดอนเมืองแห่งนี้
นอกจากนี้ยังมี Magic Garden Food Hall แหล่งรวมอาหารนานาชาติชื่อดังหลากหลายแบรนด์ รวมทั้งสิ้น 18 ร้านบนพื้นที่กว่า 2,500 ตร.ม.กว่า 300 ที่นั่ง ใช้งบลงทุนกว่า 50 ล้าน และอีกหนึ่งศูนย์อาหารที่ Miracle Group ได้เปิดให้บริการสำหรับพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ในสนามบินดอนเมืองตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ตั้งอยู่บริเวณชั้น 2 อาคารที่จอดรถ 7 ชั้นภายใต้ชื่อ Magic Food Park กับ 11
โดยการพัฒนาในเฟส 2 นี้จะทำให้สนามบินดอนเมืองรองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคน ซึ่งภายในปีนี้คาดว่าจะมีผู้โดยสารในระดับนั้น เพราะปัจจุบันสนามบินดอนเมือง มีเที่ยวบินให้บริการ 670-680 เที่ยวบินต่อวัน มีผู้โดยสารใช้บริการ 1.1 แสนคนต่อวัน
หลังการเปิดใช้อาคาร 2 อย่างเป็นทางการ ทางทอท.ก็ยังมีแผนขยายศักยภาพของสนามบินอย่างต่อเนื่อง ตามแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินที่จะกำลังจะเกิดขึ้น
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. กล่าวว่า
หลังจากสนามบินดอนเมืองเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสาร อาคาร 2 สำหรับรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินในประเทศ อย่างเป็นทางการในวันที่ 8 มีนาคม 2559 ทางสนามบินดอนเมืองจะดำเนินการดำเนินการปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 เพื่อให้มีประสิทธิภาพ และมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะมีการทยอยปิดเป็นส่วนๆ เพื่อปรับปรุงไฟฟ้า แสงสว่าง และเคาน์เตอร์เช็กอิน ที่จะปรับให้ระบบ In-Line screening
ทั้งยังจะดำเนินโครงการพัฒนาสนามบินดอนเมือง ระยะ 3 ซึ่งอยู่ในแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินดอนเมือง งบลงทุนในหลักนับหมื่นล้านบาท
จะมีการการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ การสร้างอาคารจอดรถเพื่อรองรับรถยนต์ได้อีกกว่า 3 พันคัน การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ (Junction Terminal) โดยจะมีการก่อสร้างทางเชื่อมระหว่างตัวอาคารกับสถานีรถไฟฟ้าดอนเมืองที่จะเป็นสถานีร่วมของรถไฟฟ้าสายสีแดงเส้นทาง บางซื่อ–รังสิต และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ สายพญาไท–ดอนเมือง ที่จะแล้วเสร็จในช่วงปี 2563-2564
ซึ่ง ทอท.คาดว่าเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของสนามบินดอนเมืองจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 40 ล้านคนต่อปี ซึ่งเต็มศักยภาพการรองรับของสนามบินดอนเมือง