ช่วงหลัง ๆ มานี้หมีเริ่มบทความด้วยประโยคเดิม ๆ ใจความคงหนีไม่พ้นเรื่องโควิด และ ความน่าเบื่อในช่วง Social Distinction สาเหตุหลักก็คงมาจากชีวิตประจำวันที่เรายังต้องอยู่กับเจ้าเชื้อ ไวรัสโควิด-19 ไม่มีทีท่าจะหายไปง่าย ๆ ซักกะที
ยิ่งเมื่อซักประมาณสองสามวันก่อน หมีไปเจอบทความหนึ่ง น่าสนใจเลยทีเดียว เค้าบอกว่า การที่เราอยู่บ้านนาน ๆ ก็สามารถทำร้ายเราได้เหมือนกันนะ เพราะการที่เราเอาอยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยม หรือ ในร่มเป็นเวลานานจะทำให้ระบบการใช้ชีวิตของเรามันพัง เกิดสภาวะหม่นหมอง และอาจจะเลยเถิดไปถึงขั้นซึมเศร้าได้เลย (มีผลวิจัยออกมาแล้วด้วย)
บางคนถ้าอยู่บ้านก็ไม่ค่อยน่าห่วงเท่าไหร่ อย่างน้อยบ้านก็ยังมีบริเวณให้เราได้ออกไปใช้ชีวิตนอกเหนือจากห้องสี่เหลี่ยมบ้าง แต่ชาวคอนโดอย่างเราหลาย ๆ คนกลับไม่เป็นอย่างนั้นครับ (เชื่อว่าส่วนใหญ่ก็คงอยู่แต่ในห้องตัวเองเป็นแน่) แต่จะให้ทำอย่างไรได้ ในเมื่อเราออกไปไหนไม่ได้ ก็คงต้องหากิจกรรมอื่น ๆ ทำเพื่อไม่ให้เศร้าหมองนั่นแหละ
เกริ่นซะยาว 55555 ขอเข้าเรื่องในวันนี้เลยแล้วกัน ช่วง Social Distinction อยู่แต่ในบ้านเบื่อ ๆ แบบนี้หมีเลยขออาสาพาทุกคนไปเที่ยวแก้เบื่อกันครับ!!
อ่านไม่ผิดแน่นอน วันนี้หมีจะพาทุกคนไปเที่ยว แต่จะเป็นการพาไปเที่ยวในรูปแบบของ "ออนไลน์" นั่นเอง
ในเมื่อเราออกไปไหนไม่ได้ สถานที่ท่องเที่ยวอย่าง "พิพิธภัณฑ์" เลยขอยกตัวเองไปอยู่ในช่องทางออนไลน์ซะเลย
และพิพิธภัณฑ์ที่หมีจะพูดถึงในวันนี้ก็คือ "หอภาพยนตร์ Thai Film Archive" ใครที่เคยได้ยินชื่อ แต่ยังไม่เคยมีโอกาสได้ไปเยือนซักครั้ง หมีขอเรียนผู้โดยสารทุกท่านเกาะจอกันให้ดี ๆ เราจะพาทุกคนไปเที่ยวพร้อม ๆ กัน ที่สำคัญพวกเรายังได้สมนาคุณเป็นตั๋วหนังฟรี ๆ ที่พร้อมจะนำทุกคนย้อนวันวานไปชมภาพยนตร์เก่า ๆ ที่หาดูได้ยากอีกด้วย พร้อมแล้ว ไปครับ ลุย!!
การเดินทางไปชมพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย
Thai Film Museum นั้นไปไม่ยากครับแค่กด
คลิก ก็สามารถเข้าไปชม
Museum View 360⁰ ได้โดย แนว ๆ
Google map ครับ เราจะสามารถชมได้แบบ 360 องศา ไปดูว่าภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ มีอะไรให้เราได้เยี่ยมชมบ้าง
หลัก ๆ คงจะเป็นเรื่องของกระบวนการผลิตภาพยนตร์สมัยก่อน อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายทำ อุปกรณ์ประกอบฉาก โปสเตอร์ รูปถ่าย ฯลฯ มีการจัดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สมัยนี้ไม่มีให้เห็นแล้ว รวมถึงการยกโรงหนังแบบยุคเก่าแก่แต่เริ่มแรกมาจัดแสดงให้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนและโรงหนังในสมัยก่อนด้วย
ถึงจะเป็นการชมพิพิธภัณฑ์แบบออนไลน์แต่คุณภาพก็ถือว่าอยู่ในระดับ HD นะ ตัวหนังสือต่าง ๆ กดซูมเข้าไปอ่านได้อย่างชัดแจ๋ว สามารถชมได้ทั่วพิพิธภัณฑ์ทั้งสองชั้นเลย
มุมนี้ถ้าหมีเดาไม่ผิดน่าจะเป็นเหล่าอุปกรณ์เข้าฉากในหนังเรื่อง "กระสือสาว" เป็นหนังตั้งแต่ปี 2516 (ใครเกิดทันกันบ้างเนี้ย55555) จากโปสเตอร์สมัยนั้นตั๋วหนังแค่ 35 บาทเอง ถูกแฮะ
ที่สำคัญพิพิธภัณฑ์นี้นอกจากมาดูมาเที่ยวเพลิน ๆ แล้วเนี้ย ยังเป็นอีกสถานที่ที่สามารถเข้ามาศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์ได้แบบเน้น ๆ เลยครับ เพราะที่นี่เค้ามีหน่วยกู้หนังด้วยนะ(ชื่อเท่มาก ๆ ) ซึ่งจะทำการอนุรักษณ์หนังไม่ให้เสื่อมสลายไปตามกาลเวลาครับ (ถ้าหมีเข้าใจไม่ผิดคงเป็นเรื่องของการรักษาสภาพของหนัง พวกแผ่นฟิล์ม หรือเสียงประมาณนั้น)
ชมพิพิธภัณฑ์กันแล้ว ได้เวลาของความบันเทิงซะแล้วสิ ขอเชิญทุกคนลุกขึ้นไปหยิบป็อบคอร์นและน้ำอัดลมเตรียมให้พร้อม ปิดไปในห้องและปรับอุณหภูมิแอร์ สร้างบรรยากาศให้ห้องเป็นโรงหนัง เพราะผมจะพาทุกท่าน ไปดูหนังจากหอภาพยนตร์เหล่านี้กันครับ!!
ถึงแม้เราจะออกไปดูหนังข้างนอกไม่ได้ เพราะโรงหนังต่าง ๆ จำเป็นจะต้องปิดทำการตาม พรก. ฉุกเฉิน แต่หอภาพยนตร์ใจดี นำหนังเก่า ๆ หาดูได้ยาก มาให้เราชมแบบฟรี ๆ ไม่ผิดกฎหมายซะด้วย วันนี้หมีเลยอยากขอหยิบยกภาพยนต์ 5 เรื่องจาก หอภาพยนตร์ มาแนะนำกัน!!
สันติ-วีณา (ปี พ.ศ. 2497)
ภาพยนต์ที่เป็นภาพปกข้างบนนี้เอง หนังเรื่องนี้เคยหายสาบสูญไปนานกว่า 60 ปีเลยนะ รวมทั้งพบสำเนาฟิล์มสำหรับฉาย ที่ China Film Archive ประเทศจีน และ the Gosfilmofond ประเทศรัสเซีย ก่อนจะนำมาบูรณะใหม่ และนำฉบับบูรณะออกฉายครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ เมื่อ พ.ศ. 2559 ซึ่งตอนนี้หอภาพยนตร์ได้นำมาขึ้นจอฉายใหม่อีกครั้ง พร้อมเข้าชมได้ฟรี ๆ แบบออนไลน์อีกด้วย
และที่เจ๋งจนหมีต้องยกมาแนะนำก็เพราะว่า สันติ-วีณา เป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ จากงานประกวดภาพยนตร์นานาชาติแห่งเอเชียอาคเนย์ ครั้งที่ 1 ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ. 2497 โดยรางวัลประกอบด้วย ถ่ายภาพยอดเยี่ยม กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม และรางวัลพิเศษในฐานะที่เป็นภาพยนตร์ที่แสดงวัฒนธรรมของเอเชียให้ชาวตะวันตกเข้าใจได้เป็นอย่างดี
หนังเรื่องนี้เค้าเล่าถึงเรื่องราวของเด็กชายตาบอดที่มีชื่อว่า "สันติ" เขาถูกส่งไปอยู่กับหลวงตาในถ้ำ โดยที่มี "วีณา" เด็กผู้หญิงอายุอานามไล่เลี่ยกันคอยปกป้องดูแลเขาจาก ไกร ผู้หาเรื่องแกล้งสันติอยู่เสมอ เมื่อพวกเขาโตขึ้น สันติและวีณาได้กลายเป็นคู่รัก ท่ามกลางความอิจฉาริษยาของไกร วันหนึ่ง ไกรได้ให้พ่อแม่ของเขาไปสู่ขอวีณาถึงบ้าน วีณาจึงตัดสินใจหลบหนีไปพร้อมสันติด้วยความหวังว่าจะได้ไปใช้ชีวิตครองรักด้วยกัน (เอ้อออ พลอตเก่าพลอตแก่นะ5555)
เงิน เงิน เงิน (ปี พ.ศ. 2508)
ภาพยนตร์ไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติประจำปี 2555 เลยนะครับเรื่องนี้!! เงิน เงิน เงิน สร้างโดยพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ หรือ “เสด็จพระองค์ชายเล็ก” ที่ได้ดาราคาแม่เหล็กของยุคนั้นเลยก็ว่าได้อย่าง มิตร ชัยบัญชา และ เพชรา เชาวราษฏร์ (ถ้ายุคนี้มีณเดช ญาญ่า ยุคนั้นก็มิตรและเพชรานี่แหละครับ) ความยิ่งใหญ่ของ เงิน เงิน เงิน ยังเป็นการนำผู้แสดงประกอบเกือบทั้งวงการภาพยนตร์ไทยในขณะนั้น ด้วยการรวมเหล่าดารานักแสดงไว้มากมาย ถึง 60 กว่าคน ใช้คำโฆษณาว่า "เพลงพราว ดาวพรู ดูเพลิน" และยังมี 14 เพลงไพเราะจาก 15 ยอดนักเพลง ถือเป็นภาพยนตร์ประวัติศาสตร์เรื่องหนึ่งของไทยเลยทีเดียว
ไฟเย็น (ปี พ.ศ. 2508)
ภาพยนตร์นั้นนอกจากที่เราจะดูเพื่อความบันเทิงแล้ว หลาย ๆ เรื่องยังสอดแทรกสาระต่าง ๆ ให้เราได้ศึกษาอีกด้วยอย่างเรื่อง "ไฟเย็น" ที่สร้างขึ้นเพื่อเผยแพร่ให้ชาวไทยเห็นภัยร้ายของลัทธิคอมมิวนิสต์ และยังได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 1 ในปีพ.ศ. 2544 อีกด้วยนะ
โดย โดม สุขวงศ์ (ผู้ก่อตั้งหอภาพยนตร์) ได้พูดถึงภาพยนตร์เรื่องนี้เอาไว้ว่า ไฟเย็น เป็นชื่อเรียกการเล่นแกล้งกันของเด็ก ๆ โดยจุดไม้ขีดให้ติดไฟแล้วเป่าดับ ในขณะที่ยังคุในก้าน ก็เอาไปจ่อเพื่อน บางทีไปจ่อเพื่อนที่เผลอหลับ ให้สะดุ้งตื่น มาเป็นชื่อหนังไทยพิเศษเรื่องหนึ่งในสมัยสงครามเย็น คืดเป็นสงครามที่ดูเหมือนไม่มีการยิงรันฟันแทง แต่สู้กันที่ความคิด ความเชื่อ ความกลัว เป็นสงครามระหว่างสองความเชื่อใหญ่ของโลก เสรีประชาธิปไตยทุนนิยม และเผด็จการคอมมิวนิสต์ หนังนี้ทำขึ้นเพื่อฉายให้คนไทยดู เพื่อตระหนักกลัวภัยของลัทธิคอมมิวนิสต์ เป็นไฟเย็นมาจ่อให้คนไทยตกใจกลัว
พระเจ้าช้างเผือก (ปี พ.ศ. 2484)
ภาพยนตร์เรื่องนี้หมีมั่นใจว่าหากใครสนใจเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทยน่าจะคุ้นหูกันเป็นอย่างดี เพราะเป็นภาพยนตร์ที่อำนวยการสร้างและเขียนเรื่องโดย ปรีดี พนมยงค์ ที่เค้าว่ากันว่าหนังเรื่องนี้นักแสดงส่วนใหญ่ก็เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (ในสมัยนั้น) นั่นเอง
พระเจ้าช้างเผือก เป็นภาพยนตร์ไทยที่พูดภาษาอังกฤษ สร้างขึ้นเพื่อเผยแพร่แนวคิดเรื่องสันติภาพให้แก่นานาประเทศในช่วงสงครามโลกครั้งที่ เป็นการเล่าเรื่องโดยนำเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์คือสงครามช้างเผือกและสงครามยุทธหัตถี มาผูกเป็นเรื่องราวระหว่าง พระเจ้าจักราแห่งอโยธยา กับ พระเจ้าหงสา ส่วนเรื่องราวจะเป็นยังไงบ้าง ตีตั๋วกดชมได้ฟรี ๆ เลยครับ (หนังไม่ได้หาดูได้ง่าย ๆ เลยนะ)
มวยไทย (ปี พ.ศ.2506)
คอหนังสารคดีเรื่องนี้ห้ามพลาดครับ ความน่าสนใจของเรื่องนี้คือเป็นภาพยนตร์สารคดีเงียบ ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับของวงการกีฬามวยไทยรวมถึงบุคคลสำคัญของวงการมวยขณะนั้นเอาไว้ด้วยเช่นกัน
มวยไทย เป็นหนึ่งในผลงานชุด “มรดกของไทย” ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16 มม. ออกอากาศทางสถานีไทยโทรทัศน์ ช่อง 4 บางขุนพรหม นับเป็นรายการที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างยาวนานมากที่สุดรายการหนึ่ง
นอกจากเรื่องที่หมีนำมาฝากแล้ว ทางหอภาพยนตร์ยังได้จัดทำเป็นเพลย์ลิสต์
"ห่างกันสักพัก ช่วง Covid-19" เป็นตั๋วหนังผ่านทาง
Youtube ให้เราได้ดูกันฟรี ๆ ที่บ้านในสถานการณ์
Social distinction ช่วงนี้อีกด้วยครับ
ใครที่ไม่รู้จะทำอะไร ก็สามารถเข้าไปเที่ยวไปชมพิพิธภัณ์ออนไลน์ที่หมีพาไปทัวร์กันได้นะ เข้าใจว่ามันคงไม่สนุกเหมือนการออกไปเที่ยวจริง ๆ หรอก แต่ก็คงพอทำให้เราหายเหงา หายฟุ้งซ่านกันได้บ้าง55555 หรือใครที่อยากเปลี่ยนบรรยากาศไปชมหนังเก่า ๆ ก็ถือตั๋วกดไปตามลายแทงที่หมีทิ้งเอาไว้ให้ก็ได้นะ อาจจะได้อรรถรสกันไปอีกแบบก็ได้นะ อิอิ