รัฐควัก 5 หมื่นล้านสนับสนุนเอกชนลงทุนโมโนเรล 2 สาย 2 สี "ชมพู-เหลือง" แลกสัมปทาน 30 ปี รฟม.ปรับลดวงเงินใหม่ให้เหมาะสม หวังลดภาระ ก่อนเสนอ "ครม.บิ๊กตู่" ไฟเขียวปลาย มี.ค.นี้ เปิดประมูลสัญญาเดียว มิ.ย. ชี้ใครให้รัฐรับภาระน้อยที่สุด แบ่งรายได้ให้มากที่สุด เป็นผู้ชนะ คาดปลายปีรู้ผลตัดเชือก เริ่มตอกเข็มต้นปีหน้า เปิดหวูดกลางปี′63 "บีทีเอส-บีอีเอ็ม" รอดูเงื่อนไขทีโออาร์ ซุ่มหาพันธมิตรไทย-เทศชิงดำเค้กแสนล้าน
หลังคณะกรรมการ PPP เห็นชอบหลักการให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าระบบโมโนเรล (รถไฟฟ้ารางเดี่ยว) 2 สายทาง รวม 111,335 ล้านบาท ได้แก่ สีชมพู (ช่วงแคราย-มีนบุรี) 56,691 ล้านบาท และสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว-สำโรง) 54,644 ล้านบาท ตามขั้นตอน PPP Fast Tack โดยลงทุนแบบ PPP Net Cost รัฐรับภาระค่าเวนคืนที่ดิน ให้เอกชนลงทุนงานโยธา ระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถ ค่าจ้างที่ปรึกษา บริหารการเดินรถและซ่อมบำรุง เป็นระยะเวลา 30 ปี และเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสารและรับความเสี่ยงผู้โดยสาร
โดยรัฐจะสนับสนุนเงินลงทุนแก่เอกชนแต่ไม่เกินมูลค่างานโยธาเป็นการจูงใจ มอบให้รฟม.ปรับกรอบวงเงินให้เหมาะสม เพื่อลดภาระเงินสนับสนุนของรัฐ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการ งบประมาณค่าเวนคืน และกรอบวงเงินสนับสนุนเดือน มี.ค.และเปิดประมูลเดือน มิ.ย.นี้
ประมูลสายละ 1 สัญญา
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การคัดเลือกเอกชนมาดำเนินการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง จะเป็นรูปแบบสัญญาเดียวทั้งก่อสร้าง บริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการ
โดยพิจารณาข้อเสนอของเอกชนภายใต้เงื่อนไขเอกชนจะเป็นผู้รับความเสี่ยงด้านการดำเนินการและปริมาณผู้โดยสาร ซึ่งรัฐไม่ต้องมีภาระการสนับสนุนด้านการเงิน (Subsidy) แต่อย่างใด ขึ้นอยู่กับการประเมินโครงการของเอกชนแต่ละราย หากเอกชนรายไหนเสนอส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐมากที่สุด หรือขอรับการสนับสนุนจากรัฐน้อยที่สุด รวมทั้งข้อเสนอที่ใช้ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างโครงการสั้นที่สุด จะเป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้รับสัมปทานโครงการ
สำหรับเงินลงทุนของสายสีชมพู ระยะทาง 34.5 กม. จำนวน 30 สถานี อยู่ที่ 56,691 ล้านบาท ทั้งโครงการรัฐลงทุน 6,847 ล้านบาท ส่วนเอกชนลงทุน 49,844 ล้านบาท จะเปิดบริการปี 2563
ส่วนเงินลงทุนของสายสีเหลือง ระยะทาง 29.1 กม. จำนวน 23 สถานี อยู่ที่ 54,644 ล้านบาท ทั้งโครงการรัฐลงทุน 6,013 ล้านบาท ส่วนเอกชนลงทุน 48,631 ล้านบาท จะเปิดบริการปี 2563
"เงินสนับสนุนที่รัฐต้องให้เอกชน 2 สาย ประมาณ 47,497 ล้านบาท ทางคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนมาตรา 35 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนปี"56 จะนำไปประกอบการพิจารณาและเจรจาคัดเลือกกับเอกชนร่วมลงทุน"
สำหรับรูปแบบรถไฟฟ้าทาง รฟม. ยืนยัน เป็นโมโนเรล และเป็นสัญญาเดียวคือทั้งก่อสร้างและเดินรถ ซึ่งระบบโมโนเรลก่อสร้างได้เร็วและง่าย ใช้พื้นที่น้อยลง สร้างยกระดับได้โดยไม่ต้องรื้อสะพานช่วงหลักสี่ออก ตามแผนจะเริ่มสร้างต้นปี 2560 เปิดบริการกลางปี 2563
เอกชนสนใจรอดูเงื่อนไขทีโออาร์
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เปิดเผยว่า
มีความสนใจจะร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง รอดูรายละเอียดทีโออาร์ เนื่องจากเป็นโครงการที่เอกชนจะต้องลงทุนทั้งงานโยธาและงานระบบและขบวนรถ ซึ่งจะต้องให้รัฐสนับสนุนเงินลงทุนบางส่วน แต่จะมากหรือน้อยยังไม่สามารถกำหนดได้ ส่วนการยื่นข้อเสนอจะร่วมกับพันธมิตรทั้งไทยและต่างประเทศอยู่ระหว่างการเจราจายังไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้
นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทยฯ กล่าวว่า
สนใจจะร่วมลงทุน PPP สายสีชมพูและสีเหลือง ซึ่งจะก่อสร้างเป็นระบบโมโนเรล และให้เอกชนลงทุนทั้งก่อสร้างและเดินรถในสัญญาเดียว ขณะนี้กำลังหารือกับผู้ผลิตรถไฟฟ้าจีนและญี่ปุ่น รวมถึงผู้ประกอบการไทยด้วย เนื่องจากบริษัทถนัดเรื่องงานก่อสร้างอย่างเดียว
ดร.สุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ช.การช่าง กล่าวว่า
ทางรัฐเพิ่งมีความชัดเจนเรื่องการประมูลสำหรับรถไฟฟ้าสายสีชมพูและเหลือง จะเป็น PPP Net Cost ให้เอกชนลงทุนและรับความเสี่ยง บริษัทจะต้องศึกษาความเป็นไปได้ และดูผลตอบแทนการลงทุน แต่ศักยภาพของบริษัทสามารถเข้าร่วมลงทุนได้
โดยบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ซึ่งมีความแข็งแกร่งและความพร้อมจะเข้าประมูลงานใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นศักยภาพด้านก่อสร้าง เทคนิคและการเงิน ไม่ต้องหาพันธมิตรเข้าร่วมก็ได้ เพราะมีประสบการณ์เดินรถไฟฟ้าใต้ดินและสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) เป็นลอยฟ้าเหมือนกับโมโนเรล แต่ไม่ปิดกั้นพันธมิตรรายอื่นแต่อย่างใด
นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บมจ.อิตาเลียนไทยฯ กล่าวว่า
สนใจประมูลแต่บริษัทสนใจเฉพาะงานโยธา จึงต้องหาพันธมิตรด้านการเดินรถมาร่วม โดยกำลังเจรจาบริษัทญี่ปุ่น เกาหลี จีน ยุโรป