ในที่สุดมหากาพย์มิกซ์ยูส “หมอชิตคอมเพล็กซ์” ก็มีข้อสรุป หลังจากที่ใช้เวลากว่า 2 ปี เคาะสัมปทาน งานนี้หมีเลยนำมาฝากกัน
พร้อมเดินหน้าปัดฝุ่น “หมอชิตคอมเพล็กซ์” กันสักทีหลังเจรจาปิดดีลระหว่าง “เสี่ยน้ำ มหฐิติรัฐ” เจ้าของ (บจ.ซันทาวเวอร์ส” และ BKT-บจ.บางกอกเทอร์มินอล) กับกรมธนารักษ์คู่สัญญา ซึ่งได้ข้อสรุปสัมปทานจบที่ 30 ปี ต่อสัญญาได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี และเขย่ามูลค่าลงทุนใหม่มาหยุดสุดท้าย 26,916 ล้านบาท
โดยจ่ายผลตอบแทนให้กรมธนารักษ์ 550 ล้านบาท และค่าตอบแทนการใช้ที่ดินระหว่างก่อสร้าง 509,300 บาท ค่าเช่า 5 ปีแรกคิด 5.35 ล้านบาทต่อปี โดยปรับขึ้น 15% ทุก 5 ปี ซึ่งตอนนี้ทางโครงการอยู่ระหว่างทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่พอเกิดเหตุการณ์โควิด-19ขึ้นมาซะก่อน ก็เลยทำให้ต้องเลื่อนประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนออกไปไม่มีกำหนดจากเดิมที่จะมีในเดือนมีนาคม จากการเลื่อนประชุมในครั้งนี้ ก็เลยส่งผลกระทบต่อไทม์ไลน์การเซ็นสัญญาเลื่อนตามไปด้วย เพราะภายใต้เงื่อนไขจะต้องให้ EIA ได้รับไฟเขียวก่อน
พัฒนาวางเป้าหมายให้เป็นศูนย์กลางคมนาคมและคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ มี 1 อาคาร แบ่งเป็นอาคารด้านทิศเหนือสูง 36 ชั้น และอาคารด้านทิศใต้สูง 32 ชั้น มีใต้ดิน 4 ชั้น และพื้นที่ใช้สอยรวม 810,000 ตร.ม. ภายในประกอบด้วย อาคารสำนักงาน อาคารที่พักอาศัย โรงแรม ศูนย์การค้า อาคารจอดรถ ศูนย์ประชุมและสถานีรับส่งผู้โดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด ที่มีข้อตกลงไว้จะกันพื้นที่ไว้ให้ 112,000 ตร.ม.ก่อนที่ บขส.จะย้ายไปจตุจักร
สถานีขนส่งผู้โดยสาร จะเป็นสถานีจอดรับ-ส่งผู้โดยสารรูปแบบใหม่ใช้บริการชานชาลาร่วมกัน ลักษณะเดียวกับสนามบิน มีกำหนดเวลาเข้า-ออกสถานีของรถโดยสารตามตารางเวลา มีระบบการอำนวยความสะดวกแสดงข้อมูลโดยสารและชานชาลาด้วยระบบสารสนเทศ มีระบบการตรวจสอบตั๋วและตรวจความมีระบบตู้ขายตั๋วอัตโนมัติและออนไลน์
และยังสร้างทางเชื่อมต่อการเดินทางโดยรอบเพื่อแก้ปัญหาการจราจรจำนวน 3 โครงการ 1.ทางยกระดับบนถนนพหลโยธินฝั่งขาออก สำหรับรถที่ออกจากโครงการมุ่งหน้าไปยังห้าแยกลาดพร้าว บรรเทาผลกระทบด้านการจราจรของจุดกลับรถบริเวณแยกกำแพงเพชร แบ่งเบาปริมาณจราจรถนนวิภาวดีรังสิต ลดผลกระทบจราจรบริเวณห้าแยกลาดพร้าวยังมีแนวคิดจะขยายทางยกระดับไปลงบนถนนวิภาวดีรังสิตก่อนถึงด่านโทลล์เวย์ลาดพร้าว
2.ทางเชื่อมยกระดับด้านถนนพหลโยธิน มุ่งหน้าสะพานควาย ทางยกระดับที่บูรณาการกับสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย ช่วงบริเวณถนนพหลโยธินและถนนกำแพงเพชร ผู้ที่เดินทางมาจากสะพานควายสามารถเลี้ยวซ้ายไปขึ้นทางยกระดับจากถนนกำแพงเพชร 2 เข้าสู่โครงการ ช่วยบรรเทาผลกระทบการจราจรของจุดกลับรถห้าแยกลาดพร้าว และยังเชื่อมต่อโครงข่ายกับพื้นที่ด้านตะวันตกของกรุงเทพฯ
3.ทางเชื่อมยกระดับด้านถนนวิภาวดีรังสิตและดอนเมืองโทลล์เวย์ เป็นทางยกระดับเพื่อเชื่อมพื้นที่สถานีขนส่งในอาคารกับถนนวิภาวดีรังสิตกับโทลล์เวย์ รองรับรถโดยสารและรถยนต์ที่ใช้โทลล์เวย์เข้าออกโครงการ จะมีทางขึ้น-ลงเชื่อมกับถนนวิภาวดีรังสิตสำหรับรถที่ไม่ต้องการใช้ทางด่วน ช่วยบรรเทาผลกระทบด้านการจราจรที่เกิดจากรถโดยสารขนาดใหญ่ให้แยกใช้ทางยกระดับเข้า-ออกพื้นที่
อีกเรื่องที่น่าจับตามองมาก ๆ ก็คือการกลับมาฟื้นโปรเจกต์นี้ “เสี่ยน้ำ มหฐิติรัฐ” จะดึงใครเข้ามาร่วมลงทุนบ้าง เนื่องจากทำเลที่มีศักยภาพทั้งใกล้สถานีรถไฟฟ้า BTS และแหล่งงานที่ชุกชุม อย่างก่อนหน้านี้ในปี 58 สิงห์เอสเตท เคยสนใจหลังซื้ออาคารสำนักงาน “ซันทาวเวอร์ส” ด้วยวงเงิน 4,500 ล้านบาท แต่ล่าสุดได้รับเสียงยืนยันจากบอสใหญ่สิงห์เอสเตทมาแล้วว่า "ยังไม่สน เพราะเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ และช่วงนี้บริษัทยังไม่มีแผนลงทุนโครงการใหญ่”
ส่วนทางฝั่ง BTS ก็ออกมาบอกสั้น ๆ เหมือนกันว่า “ไม่สนใจ เพราะเป็นการพัฒนาบนที่เช่า ไม่คุ้มกับการลงทุน”
ก็ยังต้องจับตามองต่องไปนะ ทั้งเรื่องของความคืบหน้าโครงการ และผู้ร่วมทุนรายอื่น ๆ อ้อ หมีลืมบอกว่าโครงการนี้เค้ามีเป้าหมายจะเริ่มสร้างในปี 2564 ใช้เวลาสร้าง 5 ปี ซึ่งถ้าไม่มีอะไรผิดแผน โปรเจ็กต์นี้จะแล้วเสร็จในปี 2568 เราคงได้เห็นมิกซ์ยูสขนาดใหญ่กันแน่นอน