หมีว่าหลายคนคงได้ยินคำนี้ผ่านหูผ่านตามาบ้าง
คำว่า "เงินหยวนดิจิทัล"
ได้ยินได้ฟังครั้งแรก หมีนึกสงสัย เกิดคำถามในใจดวงน้อยว่าเจ้า "เงินหยวนดิจิทัล" มันคืออะไร
เป็นเงินสกุลใหม่ของจีนเหรอ? ใช้แทนเงินสดได้มั้ย? เป็น Bitcoin รูปแบบหนึ่งของจีนหรือเปล่า?
ไปๆ มาๆ เลยลองไปค้นๆ ข้อมูลดู แล้วพบว่าเจ้า "เงินหยวนดิจิทัล" นั้น มันน่าสนใจมากกว่าที่คิด
เพราะนี่คือสกุลเงินดิจิทัลที่จะเข้ามาแทนที่การใช้เงินในรูปแบบบธนบัตร บ้ายบายเงินสด แถมยังถูกจับตามองว่าเป็นนวัตกรรมการเงินครั้งสำคัญที่สุด หลังการเกิดไวรัส COVID-19 อีกต่างหาก
จับตาดูแนวโน้มระยะยาวกันไว้เลยครับ เพราะว่าความคล่องตัวของเงินหยวนดิจิทัลนั้นจะช่วยดันให้เงินหยวนมีความสากลมากขึ้นแน่ๆ
ย้อนกลับไปนิด สำหรับประเทศจีนนั้นหมีมองว่าเป็นหนึ่งในประเทศต้นๆ ที่เหมาะจะใช้คำว่า “สังคมไร้เงินสด” โดยแท้จริง
เพราะที่ประเทศจีนนั้นประชากรเค้าใช้จ่ายกันผ่านโทรศัพท์มือถือสูงมากกกกกกกก (กอไก่หมดโลก)
จะร้านสะดวกซื้อหรืออาม่าอาซิ้มขายของในตลาด เค้าก็จะมี QR Code สำหรับรับเงินโดยเฉพาะเพื่อให้สะดวกในการซื้อขาย และไม่เชื่อก็ต้องเชื่อนะ ขอทานยังรับเงินผ่าน QR Code เลยคุณ!
ย้อนกลับไปอีกนิด ในปี 2019 มีรายงานตัวเลขของผู้ใช้จ่ายเงินออนไลน์ของจีนด้วย ว่าเพิ่มสูงเป็น 800 ล้านคน เกินครึ่งของประชากร 1,400 ล้านคนทั่วประเทศ
ส่วนตลาดการจ่ายเงินผ่านมือถือของจีนนั้นจะมีรายใหญ่ๆ ที่คุ้นหูกันดีอยู่คือ Alipay (Alibaba) เจ้านี้เค้าครองส่วนแบ่งสูงสุดถึง 55%
รองมาจะเป็น Tenpay (Tencent + WeChat) ที่ตัดเค้กส่วนแบ่งไปอีก 40% ที่เหลือก็จะเป็นเหล่าผู้ให้บริการรายย่อยอื่นๆ ครอบครองไปครับ
เจ้าเงินหยวนดิจิทัลนี้ไม่ใช่สกุลใหม่เลยครับ แต่มันคือ "ส่วนหนึ่ง" ของเงินหยวนปกติ
เหมือนเป็นออฟชั่นเสริมความเป็นสากลให้กับเงินหยวน อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของรัฐเหมือนกันกับเงินในรูปแบบธนบัตรนั่นแหละ แค่มันเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มสำหรับบริการการชำระเงินทั้งหลายนั่นเอง
ทีนี้เราอาจจะสงสัยว่า แล้วไอ้เงินหยวนดิจิทัลนี่มันเหมือนกันกับเงินดิจิทัลที่ชื่อว่า Bitcoin หรือเปล่า?
เจ้า Bitcoin นี่เดบิวต์ให้โลกเริ่มรู้จักกันในช่วงปี 2014 ครับ เป็นกระแสหลังทำราคาขึ้นสูง จากประมาณ 90 ดอลลาร์สหรัฐ พุ่งไปเป็นประมาณ 1,000 ดอลลาร์
พอเห็นว่ามันค่อนข้างเข้าท่า ธนาคารจีนเลยเริ่มศึกษาสกุลเงินดิจิทัลของประเทศตัวเองบ้างในปี 2017 ฟังๆ ดูแล้ว หยวนดิจิทัลอาจจะเหมือนกับ Bitcoin แต่อันที่จริงแล้วมันมีข้อแตกต่างกันอยู่มากทีเดียว
ข้อแรกเลยคือ Bitcoin หรือสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ เค้าไม่ได้ถูกควบคุมจากรัฐครับ ไม่ได้อ้างอิงกับสินทรัพย์ต่างๆ หรือ Libra ที่อ้างอิงกับเงินดอลลาร์สหรัฐเสียมาก
แตกต่างจากเงินหยวนดิจิทัลที่ธนาคารกลางจีนมีสิทธิ์เข้าไปควบคุมดูแลโดยตรง (แหงล่ะ เพราะเป็นผู้สร้างขึ้นมานี่) และเงินหยวนดิจิทัลนั้นจะอ้างอิงกับค่าเงินหยวนแบบ 1:1 ครับ ง่ายๆ คือมูลค่าของเงินหยวนกับเงินหยวนดิจิทัลนั้นเท่ากัน ไม่มีส่วนต่างอะไร
อ้อ! แต่มันมีอยู่จุดหนึ่งที่หมีคิดว่าน่าสนใจมาก คือธนาคารกลางจะสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้กับเงินหยวนดิจิทัลได้โดยตรง แต่ว่าสำหรับในขั้นทดลองตอนนี้ยังไม่ได้มีการกำหนดดอกเบี้ยอะไรนะ
เงินหยวนดิจิทัลมันก็คือการปรับรูปแบบของเงินหยวนแบบธนบัตรมาเป็นแบบดิจิทัลนั่นแหละ และเพราะควบคุมโดยรัฐ ทำให้เงินหยวนดิจิทัลสามารถตรวจสอบได้ว่าเงินนั้นๆ มันมีที่มาทางการเงินยังไง เงินฉันไปอยู่ตรงไหนแล้ว ไม่เหมือนกับฝั่ง Bitcoin ที่เป็นอิสระ สามารถรับจ่ายเงินได้แบบไม่ต้องระบุตัวตน
ตอนนี้เงินหยวนดิจิทัลที่มีชื่อเป็นทางก๊านนนทางการว่า Digital Currency/Electronic Payment (DCEP) ถูกทดลองนำร่องใน 4 เมืองแรกของจีนแล้วคือ เซินเจิ้น, ซูโจว, สงอัน และเฉิงตู เริ่มทดลองในระยะเวลานานถึง 6-12 เดือน
เมืองที่น่าจับตามองคือเขตเมืองใหม่สงอันครับ เมืองนี้อยู่ทางตอนใต้ของกรุงปักกิ่ง เป็นเมืองที่รัฐบาลจีนเตรียมผลักดันให้เป็นเมืองอัจฉริยะแห่งอนาคต
บทบาทของเงินหยวนดิจิทัลในเขตเมืองใหม่สงอันนั้นจะเน้นทดลองใช้กับกลุ่มธุรกิจค้าปลีกและการจัดเลี้ยงทั้งหลาย จำพวกซูเปอร์มาร์เก็ตหรือฟิตเนส ในแง่ของร้านค้าที่ร่วมทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัลก็จะเป็นพวกร้านใหญ่ๆ ที่คนคึกคักหน่อย อย่าง McDonald’s, Starbucks, Subway อะไรพวกนี้
แต่ในแง่ของการทำให้เข้าถึงประชาชน หมีรู้มาว่าเค้าเริ่มนำไปใช้ในระบบของรัฐด้วย
อย่างการจ่ายเงินเดือนหรือสวัสดิการของพนักงานรัฐในเมืองซูโจวจะถูกจ่ายผ่านทางหยวนดิจิทัลครับ (เห็นว่าเริ่มในเดือนพฤษภาคมนี้แหละ) เหมือนเป็นการบังคับคนให้ใช้เงินหยวนดิจิทัลไปในตัวเนอะ ไม่ใช้ก็ไม่ได้เงินเดือน 55555
และที่เงินหยวนดิจิทัลนี้ถึงจะพัฒนามานานแล้วแต่ที่เพิ่งถูกนำมาใช้ในช่วงนี้นั้น เห็นเค้าว่าเป็นส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันการติดโรคระบาดผ่านธนบัตรครับ
อย่างที่บอกไปว่าจีนเป็นสังคมไร้เงินสดเกือบทั้งหมดแล้ว แต่เบื้องหลังมันก็ยังมีส่วนที่เป็นธนบัตรกระดาษอยู่เหมือนกัน อย่างในส่วนของการจัดเก็บธนบัตรที่ธนาคารพาณิชย์นั่นไง
แต่ว่าเงินหยวนดิจิทัลมันไม่มีขั้นตอนของธนบัตรกระดาษเข้ามาปน ต้นทุนการผลิตเงินก็ต่ำกว่า จ่ายเงินอุดหนุนในเหตุวิกฤติก็ทำได้แบบตรงตัวกว่า และป้องกันในส่วนของการคดโกงกับการฟอกเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง (ก็รัฐควบคุมนี่นา - โอ๊ย! แมวพิมพ์)
เอาเป็นว่าน่าสนใจครับ ภาคธุรกิจไทยเองก็ต้องจับตาดูแนวโน้มในระยะยาวของเงินหยวนดิจิทัลแล้ว ว่าในเรื่องของความคล่องตัวนั้นมีส่วนผลักดันให้เงินหยวนเป็นสากลได้มากขึ้นแค่ไหน เพราะไอ้เรื่องจุกจิกทั้งหลายพวกนี้มันก็นับได้ว่ามีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนเหมือนกันนะ