ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา หมีเชื่อว่าหลายคนคงเห็นประเด็นใหญ่ที่กำลังร้อนฉ่าอยู่อีกซีกโลกอย่างในประเทศอเมริกา ที่ประชาชนออกมาประท้วง ต่อต้านการเหยียดผิว
หลังจากกรณีที่ จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวสีคนหนึ่งถูกตำรวจเข้าจับกุม และใช้เข้ากดทับบริเวณลำคอจนเสียชีวิต หลายคนมองว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นคือการกระทำที่เกินกว่าเหตุ
เรียกได้ว่า นี่คือชนวนที่ทำให้ประชาชนในอเมริกันลุกฮือออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม ในหลาย ๆ รัฐ จนตอนนี้เหตุการณ์เริ่มลุกลาม และใหญ่โตขึ้นเรื่อย ๆ เรียกได้ว่า ออกมาประท้วงกันเยอะมาก ๆ แบบไม่หวั่นโควิด-19 กันเลยทีเดียว ที่สำคัญการประท้วงครั้งนี้มันกระเพื่อมไปทั่วโลกกับแฮชแท็ก #BlackLivesMatter
และกับอีกประเด็นที่น่าสนใจอย่างกรณีของแบรนด์ดังอย่าง Nike ที่เปลี่ยนสโลแกนจาก Just Do It มาเป็น Don’t Do It เพื่อเป็นการบอกกับทุกคนว่า "ไนกี้ต่อต้านการเหยียดผิว"
เอาล่ะ เกริ่นมาขนาดนี้ คงรู้กันแล้วใช่มั้ยล่ะ ว่าวันนี้เราจะพูดถึงเรื่องอะไร หมีเชื่อว่าหลายคนคงทราบข้อมูลคร่าว ๆ กันบ้างแล้วล่ะ แต่วันนี้หมีขอหยิบสรุปให้แบบสั้น ๆ เข้าใจง่าย ๆ มากฝากกัน
- ชนวนครั้งนี้ดูเหมือนจะเริ่มมาจากการที่ จอร์จ ฟลอยด์ ถูกตำรวจใช้กำลังเข้าจับกุมซึ่งเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ เรื่องนี้เกิดขึ้นในรัฐมินเนโซต้า สาเหตุที่ตำรวจเข้าจับกุมครั้งนี้มาจากการได้รับแจ้งมาว่าเหมือนลูกค้าจะใช้แบงค์ปลอมในการซื้อของ ซึ่งลูกค้าที่ถูกกล่าวหาในครั้งนี้ ก็คือ จอร์จ ฟลอยด์ นั่นแหละ ซึ่งในระหว่างการจับกุม จอร์จ ฟลอยด์ ไม่ได้มีท่าทีขัดขืนอะไร แต่ตำรวจกลับใช้เข่ากดทับที่บริเวณลำคอของ จอร์จ ฟลอยด์ แม้จอร์จจะร้องขอความเมตตาว่าเขาหายใจไม่ออก "I can't breathe Officer” สุดท้ายก็หมดสติ และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา
- หลังจากการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ ส่งผลต่อความรู้สึกของผู้คนในสหรัฐอเมริกาว่า เพราะว่าจอร์จเป็นคนผิวสีหรือเปล่านะ ถึงได้โดนกระทำรุนแรงเช่นนี้ หากเป็นคนขาวคงไม่ถูกปฏิบัติแบบนี้แน่ เพราะคนผิวสีมองว่าเวลาเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งทีไร คนผิวสีมักจะถูกใช้ความรุนแรงมากเป็นพิเศษ ไม่เหมือนกับคนผิวขาวที่ได้รับสิทธิพิเศษมากกว่า ทำให้เกิดแฮชแท็กร้อนแรงในโลกโซเชี่ยลอย่าง #BlackLivesMatter หรือที่แปลว่า ชีวิตของคนผิวดำก็มีความหมาย เพื่อเป็นการแสดงจุดยืน
- ชาวเมืองเริ่มออกมาประท้วง โดยแต่แรกผู้ชุมนุมยังคงยึดหลักการชุมนุมแบบ Social Distancing เพราะสถานการณ์โควิดในอเมริกายังคงรุนแรงอยู่ แต่หลังจากเริ่มประท้วงได้ไม่นาน ผู้ชุมนุมก็แห่แหนเข้ามาเพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงแต่คนผิวสี แต่ประชาชนหลาย ๆ คนในอเมริกาต่างก็ออกมาร่วมประท้วงในครั้งนี้ด้วย (ดารานักร้องจากทางฝั่งฮอลลีวูดก็เข้าร่วมหลายคนเหมือนกัน) และการประท้วงก็เริ่มรุนแรงขึ้นตามลำดับ ทำให้เกิดปัญหาจลาจลตามมาทั้ง การบุกทำลายร้านค้า การโขมยทรัพย์ ฯลฯ
- การประท้วงและเหตุการณ์จลาจลเริ่มบานปลาย ตำรวจจึงต้องใช้กระสุนยาง และแก๊สน้ำตา แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์ก็ยังไม่คลี่คลาย มิหนำซ้ำดูเหมือนจะเริ่มบานปลายขึ้นเรื่อย ๆ หมีติดตามข่าว บางคนก็ออกมาบอกว่า คนผิวสีหลาย ๆ คนที่ออกมาประท้วงไม่เห็นด้วยกับการกระทำในครั้งนี้ (ปล้นข้าวของทำลายทรัพย์สิน)
- Nike แสดงจุดยืนในการต่อต้านการเหยียดผิวด้วยแคมเปญ Don’t do it ที่เปลี่ยนจากคำว่า Just เป็นคำว่า Don't บอกเลยว่าแคมเปญนี้อิมแพคมาก ๆ โดยไนกี้ยังได้ทำการโพสต์ VDO สั้น ๆ ใจความว่า “อย่าเพิกเฉยต่อปัญหาการเหยียดผิว อย่าคิดว่ามันไม่เกี่ยวกับคุณ อย่านั่งเงียบ เราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง”
ซึ่งต้องบอกก่อนว่า นี่ไม่ใช้ครั้งแรกที่ไนกี้ออกโรงมาแสดงจุดยืนในการต่อต้านการเหยียดสีผิวนะ เพราะพี่แกเปรี้ยวมาตั้งแต่นานแล้ว หลังจากที่ไนกี้ได้สร้างแคมเปญร่วมกับ โคลิน แคเปอร์นิค นักอเมริกันฟุตบอลที่เริ่มต้นการคุกเข่าตอนเคารพธงชาติ เพื่อต่อต้านการเหยียดผิว ร้อนถึงประธานาธิปดีอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ออกตอบโต้การกระทำของโคลินด้วยการกดดันให้ NFL (American National Football League) ลงโทษนักกีฬาที่ไม่ยืนตรงเคารพธงชาติออก พร้อมกับบอกว่าการกระทำแบบนี้คือการกระทำของคนที่ไม่รักชาติ (เอ๊ะ)
แน่นอนครับ จบฤดูกาลแข่งขันปุ๊บ ทางทีมเดิมก็เลยไม่ต่อสัญญากับโคลิน แถมไม่มีทีมไหนอยากเซ็นสัญญาด้วยอีก แต่!! ไนกี้ ดันไปดึง โคลิน แคเปอร์นิค มาเป็นพรีเซ็นเตอร์คนใหม่ของปี 2018 พร้อมกับสโลแกนครบรอบ 30 ปีของแบรนด์อย่าง "Just Do It" และประโยค "Believe in something, even if it means sacrificing everything" ผลปรากฎว่าชาวเมืองลุงแซมต่อต้านกันไม่น้อยเลยนะ แต่กลับกันครับ ยอดขายดันพุ่งขึ้นมากว่า 31% แถมมูลค่าทางการตลาดยังโตขึ้นอีกด้วย
- จากกรณีของ จอร์จ ฟลอยด์ และ #BlackLivesMatter ไนกี้ยังคงแสดงจุดยืนที่แข็งแกร่งเช่นเดิมด้วยการต่อต้านการเหยียดผิว ความน่าสนใจไม่ใช่แค่ แคมเปญ Don’t do it เท่านั้นแต่ คู่ปรับตลอดกาลอย่าง Adidas ยังเข้ามาร่วมแสดงจุดยืนครั้งนี้เช่นเดียวกันครับ ด้วยการรีทวิตแคมเปญนี้ พร้อมกับข้อความที่ว่า "Together is how we move forward, Together is how we make change" หรือแปลเป็นไทยว่า "ร่วมมือกันเราจะไปข้างหน้า ร่วมมือกันเราจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้" ซึ่งก็ต้องจับตาดูว่า ทาง Adidas จะผุดแคมเปญอะไรออกมาบ้างหรือเปล่า?
นอกจาก 2 แบรนด์อย่าง Nike และ Adidas แล้ว ยังมีอีกหลาย ๆ แบรนด์ที่ออกมาแสดงจุดยืนในครั้งนี้เช่นเดียวกัน รวมถึงคนดังในหลาย ๆ ประเทศก็ออกมาเป็นกระบอกเสียงในเรื่องนี้อีกด้วย
หมีเองก็ยังติดตามข่าวการประท้วงครั้งนี้อย่างต่อเนื่องนะ ทั้งนี้ทั้งนั้น หวังว่าการประท้วงในครั้งนี้จะไม่เกิดความสูญเสียใด ๆ และจบลงอย่าสันติวิธีนะครับผม