ถ้าพูดถึงชื่อเล่นของสะพานสายหนึ่งที่อยู่ตรงกลางระหว่างสะพานพระปกเกล้า คนแถวนั้นน่าจะคุ้นกันว่าเค้าเรียกสะพานสายนั้นว่า "สะพานด้วน"
เป็นชื่อที่ฟังแล้วไม่น่ารักเท่าไรเลยนะ แต่มันก็ด้วนตามที่เค้าเรียกกันจริงๆ อ่ะดิ
ไงก็ตาม จากนี้ไปสะพานด้วนจะไม่ด้วนอีกแล้ว! แถมปรับโฉมใหม่ให้ไฉไลกว่าเดิมอีกต่างหาก
พูดถึงสะพานด้วนที่ว่านี่ แต่เดิมสะพานนี้เคยเป็นโครงการก่อสร้างทางรถไฟฟ้าลาวาลิน ซึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นโครงการรถไฟฟ้าโครงการแรกของไทยด้วยนะ
แต่ว่าด้วยเหตุผลบางอย่างโครงการก่อสร้างต้องหยุดชะงักแล้วก็เงียบกริบไปนานกว่า 30 ปี สุดท้ายสะพานก็กลายมาเป็นสะพานที่ไม่มีทางขึ้นลง มองไปก็จะเห็นแต่ตัวสะพานลอยอยู่กลางน้ำเฉยๆ
จนต่อมาคือปี 2559 ทางกรุงเทพฯ และศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) เค้าวางแผนแม่บทโครงการ “กรุงเทพ 250” โครงการฟื้นฟูเมืองของกรุงเทพฯ ในวาระครบรอบ 250 ปี
เป้าหมายโครงการก็คือเพื่อพลิกฟื้นย่านเมืองเก่า 17 เขตให้น่าอยู่แล้วก็มีประสิทธิภาพ ซึ่งโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์บนโครงสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา สะพานพระปกเกล้านั้นก็อยู่ในพื้นที่นำร่องของโครงการย่านกะดีจีน-คลองสานด้วยเหมือนกัน
สุดท้ายเค้าก็วางแพลนกันเอาไว้ว่าจะเปลี่ยนน้องสะพานด้วนที่เคยเป็นโครงสร้างของรถไฟฟ้าลาวาลินมาปรับปรุงใหม่ให้กลายเป็นทางเดิน-ทางจักรยาน เชื่อมต่อการสัญจรระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีนี่เอง
สะพานด้วนคนเก่าจะไม่มีอีกต่อไป หลังจากนี้จะมีแค่ “โครงการสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” ชื่อใหม่แบบไม่ด้วน!
เอาจริงนะ กรุงเทพฯ เมืองเทพสร้างของเรานี่ถ้าลองมองไปรอบๆ แล้วจะพบว่ามี Leftover Asset หรือก็คือสิ่งก่อสร้างที่ไม่ได้ใช้งานอยู่เพียบเลย
ดังนั้นโครงการนี้มันเหมือนเป็นการรีไซเคิลอยู่รางๆ เหมือนกัน แบบว่าจะสร้างใหม่ไปทำไม ในเมื่อเราสามารถรีไซเคิลของเดิมให้ใหม่เอี่ยมอ่องได้
หมีรู้มาอีกด้วยว่าที่จริงแผนรีไซเคิลน้องสะพานด้วนนั้นมาจากเสียงของชุมชนนี่เอง
คือทางทีมงานเค้าลงไปเวิร์คช็อปกับคนในชุมชน แล้วก็ได้รับคำตอบมาว่าสะพานมันด้วนอยู่ ก็ใช้งานมันสิ
สุดท้ายเลยบู้มมม เกิดเป็นแพลนนี้ขึ้นมาล่ะคร้าบบบ
ตัวสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาที่ว่านี้มีขนาดไม่กว้างอะไรนักครับ คือมีความยาวเพียงแค่ 280 เมตร แล้วก็กว้างแค่ 8.50 เมตรเท่านั้น แต่เค้าปรับออกมาให้มันเป็นได้ทั้งทางเดินแล้วก็ทางจักรยาน ในขณะเดียวกันก็เป็นมุมพักผ่อนกับจุดชมวิวด้วย
ในเรื่องการออกแบบมันก็ต้องมีคำถามอยู่แล้วว่าจะทำยังไงให้การเดินมันไม่น่าเบื่อเพราะขนาดสะพานมันก็มีอยู่แค่นั้น
ด้วยสภาพอากาศบ้านเราแดดแรงอากาศร้อน เพราะงั้นการใช้ต้นไม้เข้ามาช่วยก็นับว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ
แต่ว่าขนาดของพื้นที่สะพานมันไม่ได้มากอะไร ดังนั้นจะใช้ต้นไม้ใหญ่เข้ามาก็ต้องเพิ่มดินเข้าไปอีก ทีนี้มันจะไปเพิ่มน้ำหนักให้กับโครงสร้างครับ
ไม่ต้องพูดถึงเรื่องลม ถ้าใครเคยเดินบนสะพานข้ามแม่น้ำแบบนี้จะรู้เลยว่าลมจะแรงมาก ถ้าปลูกต้นไม้ใหญ่มันก็มีโอกาสที่ลมจะพัดเอากิ่งไม้ตกลงมา ทำให้คนใช้สะพานไม่ปลอดภัย (แต่ร่มเงาบนสะพานก็มีพอประมาณนะ เค้าไม่ได้ตัดของเดิมทิ้ง แต่ปลูกเพิ่มโดยใช้ต้นมะกอกน้ำเป็นไม้ยืนต้นหลัก แล้วก็มีไม้ประดับหลายชนิดเลย)
ส่วนเรื่องที่ว่าจะใช้วิธีไหนที่จะทำให้คนเดิน เดินได้แบบไม่รู้สึกเบื่อ ทางทีมเค้าเลือกทำเป็นทางเดินคนและทางเดินจักรยานให้เป็นรูปตัว S ไขว้กันไปมาครับ
ทีนี้พอทางเดินมันมี Blind Spot ไม่ได้เป็นทางตรงจนทำให้คนใช้งานมองเห็นไปถึงสุดทาง มันเลยดูเหมือนว่าตัวสะพานกว้างขึ้นมาถนัดตาเลย
นอกจากนี้เห็นว่าเค้าติดตั้งราวกันตกที่มีความสูงประมาณ 2-3 เมตรไว้ด้วยนะ แล้วก็มีลิฟต์สำหรับผู้พิการตรงช่วงทางขึ้นลงของทั้งสองฝั่งด้วย ทั้งจากฝั่งสวนสมเด็จพระปกเกล้าฯ เขตพระนคร กับสวนป่าเฉลิมพระเกียรติ เขตคลองสานครับ
พูดถึงวิวบ้างดีกว่า สวนลอยฟ้าเจ้าพระยานี้สามารถชมวิวได้ทั้งจากฝั่งพระอาทิตย์ขึ้นและตกกลางแม่น้ำเจ้าพระยาเลยครับ
วิวที่ได้ก็จะเป็นพวกสะพานพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก, พระบรมธาตุมหาเจดีย์วัดประยุรวงศาวาส, โบสถ์ซางตาครูส, วัดกัลยาณมิตร, ชุมชนกุฎีจีน, พระปรางค์วัดอรุณ, อาคารไปรษณียาคาร, ศาลเจ้าพ่อกวนอูคลองสาน, ตลาดยอดพิมาน, ห้างไอคอนสยาม เรียกได้ว่าจากจุดจุดเดียวแต่สามารถมองเห็นวิวที่มีความผสมผสานทางวัฒนธรรมได้ดีมากเลย
ผมว่าที่นี่ต้องเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ แน่นอนครับ นอกจากจะใช้เพื่อพักผ่อนออกกำลังกายและชมวิวกลางแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือที่แห่งนี้จะเป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้นี่แหละ
ตอนนี้สวนลอยฟ้าเจ้าพระยาสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วนะ เหลือแค่เก็บรายละเอียดงานอีกเล็กน้อยเท่านั้น ใครที่ขับรถผ่านไปมาแถวนั้นน่าจะเห็นโฉมกันแล้ว
เรื่องการเปิดใช้งานก็คือช่วงปลายเดือนมิถุนานี้แหละครับ เห็นว่ามีกำหนดเปิดบริการในช่วง 05.00 น. และปิดเวลา 20.00 น. ของทุกวัน
วิธีการเดินทางไปสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา
- รถไฟฟ้า MRT สถานีสนามไชย
- รถเมล์ ลงที่ใต้สะพานพุทธ ได้ทั้งสาย 3, 4, 7, 9, 21, 37, 40, 43, 82, 85 และ 592
- เรือด่วนเจ้าพระยา ท่าสะพานพุทธ (ธงส้ม / ไม่มีธง)
- เดินทางมาเอง จอดรถได้ที่วัดพิชยญาติการามวรวิหาร, วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร, ลานจอดรถท่าเรือท่าดินแดง และร้านยกยอ ท่าดินแดง