1. ที่ดินประกอบการเกษตร
บุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของ
- 3 ปีแรกยกเว้นภาษี (2563-2565) อยู่แล้ว จึงไม่ได้รับผลประโยชน์เพิ่มเติม
นิติบุคคลเป็นเจ้าของ
- ราคาประเมินที่ดิน 5 ล้านบาท ในอัตราการใช้ประโยชน์ประกอบเกษตรกรรม 0.01% คิดเป็นค่าภาษี 500 บาท แต่เมื่อลดจำนวนภาษีตาม พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ 90 % จะชำระภาษีเพียง 50 บาท
2. กรณีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย
บ้านหลังหลัก (มีชื่อในทะเบียนบ้าน)
- ได้รับการยกเว้นฐานภาษีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท จึงไม่ได้รับผลประโยชน์เพิ่มเติม
- กรณีเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน จะได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีไม่เกิน 10 ล้านบาท จึงไม่ได้รับผลประโยชน์เพิ่มเติม
บ้านหลังอื่น (คอนโดหลังที่สอง)
- ราคาประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท จะเสียภาษีเพียง 100 บาท (ตาม พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ) จากเดิม 1000 บาท
3. ที่ดินรกร้างหรือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประกอบการพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรม
- ราคาประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท จะเสียภาษีเพียง 1,500 บาท (ตาม พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ) จากเดิม 15,000 บาท
ทีนี้หลายคนก็คงจะมีคำถามต่อมาอีกว่า...
แล้วที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เราถือครองอยู่นั้นเค้าจะจัดอยู่ในประเภทไหนกันนะ?
เพราะบางที่ดินจะให้ใช้ประโยชน์เพียงอย่างเดียวก็คงไม่คุ้ม หลาย ๆ ที่ดินจึงมีการผสมผสานใช้ที่ดินหลายรูปแบบ
งั้นมาดูกฎเกณฑ์ที่เค้าใช้แบ่งแยกประเภทที่ดินกันดูดีกว่า จะได้มั่นใจกันมากขึ้นว่าที่ดินของเราอยู่ประเภทไหน

ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย ได้แก่ ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของใช้อยู่อาศัยเอง บ้านหลังที่ 2 ให้ญาติพี่น้องอยู่อาศัย ให้เช่าเพื่ออยู่อาศัยแบบรายเดือน (เช่น บ้านเช่า อพาร์ทเม้นท์ หอพัก คอนโด เป็นต้น) และโฮมสเตย์ ให้เสียภาษีในอัตราที่อยู่อาศัย
2. ให้ครอบคลุมถึงช่วงเวลาระหว่างการก่อสร้าง หรือปรับปรุงต่อเติมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัยด้วย เช่น บ้านที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง หรือคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างการตกแต่ง เป็นต้น
3. ไม่รวมถึงโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม และที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่าง การพัฒนา หรือสร้างเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้ขายตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน หรือกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด

ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีการใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ให้หมายความรวมถึงการปลูกพืช การเลี้ยงปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำนาเกลือสมุทร การทำสวนป่า การเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการบริโภค หรือจำหน่าย หรือใช้งานในฟาร์ม และให้รวมถึงที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ต่อเนื่องที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมนั้นด้วย
2. สำหรับระยะเวลาในการประกอบเกษตรกรรมให้รวมถึงช่วงเวลาพักการเกษตร เพื่อฟื้นฟูสภาพที่ดิน หรือการพักที่ดินระหว่างฤดูกาลผลิต หรือการตัดวงจรโรคด้วย

และนี่ก็คืออีกหนึ่งข่าวดีที่หลายคนเป็นกังวลว่าจะต้องเสียเงินก้อนใหญ่ในการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปีนี้กัน
เพื่อน ๆ ลองสำรวจและตรวจสอบกันดูว่าที่ดินของเพื่อน ๆ จัดอยู่ในรูปแบบไหน แล้วก็ไปจ่ายกันภายในกำหนดด้วยล่ะ
โดยเค้ามีการขยายเวลาในการชำระภาษีจากเดิมสิ้นสุดในเดือนเมษายน 2563 (และมีการขยายแล้ว 1 ครั้งให้สิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2563) ล่าสุดขยายเป็นสิ้นสุดในเดือนสิงหาคม 2563 ครับผม