
กทม.จ้างกรุงเทพธนาคม-บีทีเอส 30 ปี เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อขยาย "หมอชิต-คูคต" และ "แบริ่ง-สมุทรปราการ" รวม 31.5 กม. จ่ายปีละกว่า 1 พันล้าน แก้ปัญหาไร้รอยต่อ เตรียมเจรจาคลังกู้ 8 หมื่นล้าน จ่ายหนี้คืน รฟม. พ่วงค่าติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ไฟฟ้าและสื่อสาร ต่อรองจ่ายคืนปีที่ 11-30 ปลอดหนี้ 10 ปี บีทีเอสทุ่มกว่า 1 หมื่นล้าน ซื้อรถเพิ่ม 36 ขบวน ดึงผู้ผลิตทั่วโลกยื่นประมูล ทั้งจีน เกาหลี เยอรมนี ฝรั่งเศส แคนาดา สเปน ปลายปีนำร่องเปิดใช้ถึงสำโรง
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า
ตามมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เห็นชอบให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้บริหารการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ จึงมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเจรจากับ กทม. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และกระทรวงการคลัง ในการบริหารจัดการเดินรถและเงื่อนไขทางการเงิน ซึ่งทุกหน่วยเห็นชอบให้มีการจัดทำร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ขึ้น
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ความร่วมมือกันครั้งนี้เป็นมิติใหม่ โดย รฟม.เป็นผู้ก่อสร้างมอบให้ กทม.บริหารจัดการ เพื่อให้ประชาชนเดินทางสะดวก ปลอดภัย และประหยัด อีกทั้งยังเป็นโครงการที่ กทม.ได้มีระบบรถไฟฟ้านอกเขตพื้นที่เป็นครั้งแรก ต้องเจรจากับจังหวัดสมุทรปราการเพื่อขอใช้พื้นที่ต่อไป
ด้านการชำระหนี้กว่า 6 หมื่นล้านบาท ให้ รฟม. แยกเป็นช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต วงเงิน 39,774 ล้านบาท และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ 21,086 ล้านบาท จะมีคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อพิจารณา ในหลักการไม่มีปัญหาอะไร เพราะเป็นหน่วยงานรัฐ ส่วนการเดินรถจะจ้างบีทีเอส ทำให้เปิดบริการได้เร็วขึ้น คาดว่าปีนี้จะเปิดช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ได้ 1 สถานี จากแบริ่ง-สำโรง
แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม.จะจ้างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) รัฐวิสาหกิจของ กทม. ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ระบบไฟฟ้า การสื่อสาร และเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต 18.7 กม. และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ 12.8 กม. รวม 31.5 กม. เป็นระยะเวลา 30 ปี จากนั้นกรุงเทพธนาคมจะจ้าง บมจ.ระบบขนส่งกรุงเทพ หรือบีทีเอสซี ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เดินรถให้ 30 ปีเช่นเดียวกัน
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับวงเงินจัดจ้างติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและขบวนรถทั้ง 2 เส้นทาง คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท แยกเป็นช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ 9,120 ล้านบาท และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ประมาณ 20,055 ล้านบาท
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือบีทีเอสซี เปิดเผยว่า บริษัทพร้อมจะเดินรถให้ กทม. เตรียมเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซื้อขบวนรถเพิ่มแล้ว จำนวน 36 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ รวม 144 ตู้ แยกเป็นสำหรับช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ 15 ขบวน และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต 21 ขบวน
ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดประมูล โดยเชิญผู้ผลิตรถไฟฟ้าจากทั่วโลกมาร่วมเสนอราคา อาทิ บริษัท โรเทมส์ (Rotem) และฮุนไดจากประเทศเกาหลีใต้, บริษัท CRC จากประเทศจีน, บริษัท ซีเมนส์ จากประเทศเยอรมนี, บริษัท บอมบาดิเอร์จากประเทศแคนาดา, บริษัท อัลสตรอมจากประเทศฝรั่งเศส, บริษัท CAF จากประเทศสเปน ส่วนบริษัท J-TREC กับคาวาซากิ ผู้ผลิตจากประเทศญี่ปุ่น ไม่สนใจจะเข้าร่วม
สำหรับระบบอาณัติสัญญาณ บริษัทได้ติดตั้งของบอมบาดิเอร์ ซึ่งส่วนต่อขยายทาง กทม.น่าจะใช้ระบบเดียวกัน เพื่อให้การเดินรถไม่สะดุดและง่ายต่อการซ่อมบำรุงในระยะยาว ส่วนการรับจ้างเดินรถจากกรุงเทพธนาคมนั้น ยังไม่ได้เจรจาในรายละเอียด จะจ้างเป็นระยะเวลาเท่าไหร่ แต่เพื่อให้ประหยัดควรจะจ้างเป็นระยะยาว ที่ไม่ใช่รูปแบบสัมปทาน โดยต่ออายุการจ้างทุกปี เช่น 10 ปี 20 ปี 30 ปี
"ค่าจ้างเดินรถจะอ้างอิงระยะเวลาการจ้าง จำนวนรถที่วิ่ง อาจจะเป็นราคาเดียวกับที่ กทม.เคยจ้างบีทีเอสเดินรถส่วนต่อขยาย เพราะงานคล้ายคลึงกัน เฉลี่ยปีละ 1,000 กว่าล้านบาท "
หากจ้างบีทีเอสเดินรถ จะทำให้การเดินรถต่อเนื่องและเปิดใช้เส้นทางแบริ่ง-สมุทรปราการเร็วขึ้น จะทยอยเปิดบริการ หลังเริ่มงานใน 1 ปี เปิดได้ 1 สถานี จากแบริ่ง-สำโรง เพราะบริษัทมีขบวนรถเดิมรองรับอยู่แล้ว ระหว่างรอรถขบวนใหม่จะใช้เวลาผลิต 2 ปี โดยจะสามารถเปิดได้ตลอดเส้นทางภายใน 2 ปีครึ่ง จะทำให้บริษัทมีผู้โดยสารใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 2-3 หมื่นเที่ยวคนต่อวัน ที่เข้ามาเติมในระบบเดิมของบีทีเอส ที่มีผู้ใช้บริการเฉลี่ย 7 แสนเที่ยวคนต่อวัน