ยังคงดำเนินการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง สำหรับ "สัปปายะสภาสถาน" หรือรัฐสภาแห่งใหม่ บนพื้นที่ 123.26 ไร่ กับพื้นที่อาคาร 50.65 ไร่ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง หลังจากที่ประสบปัญหาคาราคาซังกันมาเนิ่นนาน
โดยเฉพาะปัญหาเรื่องดิน 1 ล้านคิว จนส่งผลกระทบกับการก่อสร้าง เพราะดินกองพะเนินเทินทึกค้างอยู่ในไซต์งาน ทำให้การก่อสร้างชั้นใต้ดินล่าช้า จนกระทั่งบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะ "ผู้รับจ้าง" ได้ประมูลซื้อดินเองและบริจาคให้กับผู้ที่ต้องการดินฟรี ทำให้ปัญหาเรื่องดินได้รับการแก้ไขและเคลียร์ดินออกจากพื้นที่ได้ทั้งหมด ทำให้เริ่มการก่อสร้างตัวอาคารหลักอย่างเต็มรูปแบบ หลังจากที่มีการขยายระยะเวลาก่อสร้างจากวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 ออกไป 387 วัน โดยจะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 15 ธันวาคม 2559
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันการก่อสร้างตัวอาคารคืบหน้า 25% คนงานในพื้นที่ 1,600 คน และวิศวกรอีกนับร้อยเร่งทำงานตั้งแต่เช้ายันดึก จนตัวอาคารเริ่มโผล่พ้นจากดิน โดยกำลังมีการก่อสร้างชั้นที่ 1 และ 2 ส่วนชั้นใต้ดิน B2 อยู่ใต้ดินลึกลงไป 10 เมตร ที่เป็นชั้นจอดรถ มีขนาดพื้นที่ 80,000 ตร.ม.หรือ 50 ไร่ การก่อสร้างโครงสร้างได้ดำเนินการแล้วเสร็จ 100% ยังเหลือการเก็บรายละเอียดอีกเพียงเล็กน้อย
ส่วนชั้น B1 ชั้นจอดรถเช่นกันยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง โครงสร้างโดยรวมแล้วเสร็จกว่า 80% โดยทางโครงการประเมินว่าการก่อสร้างจะเป็นไปอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพราะปัญหาหลักอยู่ที่การก่อสร้างชั้น B1-2 เพราะมีขนาดกว้างมากที่สุด ที่ผ่านมาติดปัญหาเรื่องดินที่ค้างอยู่ เมื่อเคลียร์ดินหมด ทำให้การทำงานสะดวกมากยิ่งขึ้น
เมื่อโครงสร้างหลักแล้วเสร็จ การดำเนินการต่อไปคือการวางระบบ ทั้งประปา ไฟฟ้า และการสื่อสาร ซึ่งจะเป็นขั้นตอนที่จะต้องใช้การลงทุนสูงมาก เพราะระบบการสื่อสารจะเป็นระบบไฮเทคครบวงจร และดำเนินการควบคู่ไปกับการสถาปัตยกรรมภายใน
แต่ก็เชื่อว่าปัญหาต่อไปที่จะเกิดขึ้นในช่วงสถาปัตยกรรม เพราะมีการออกแบบห้องโถงที่ต้องใช้แก่นไม้สัก 5,000 ต้น ทำเป็นผนังรอบห้อง แล้วจะหาไม้สัก 5,000 ต้นได้จากที่ไหน และเมื่อวันนั้นมาถึงก็อยู่ที่ว่าจะแก้ปัญหานี้ต่อไปอย่างไร จะใช้สิ่งอื่นทดแทนได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม แม้การก่อสร้างอาคารหลักจะดำเนินการก่อสร้างไปได้ด้วยดี แต่ก็ยังติดปัญหาพื้นที่ส่งมอบ เพราะผู้รับเหมายังไม่ได้รับการส่งมอบพื้นที่ทั้งหมด อีกจำนวน 22.20 ไร่
ปัจจุบันพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการส่งมอบคือพื้นที่โรงเรียนโยธินบูรณะ และชุมชนองค์การทอผ้า เพราะแม้ว่า ร.ร.โยธินบูรณะจะมีการย้ายออกไปยังโรงเรียนแห่งใหม่ พร้อมทั้งคืนพื้นที่ให้กับรัฐสภาแล้ว แต่การรื้อถอนตัวอาคารทั้งหมดอยู่ในความดูแลของรัฐสภา โดยจะรื้อถอนและส่งมอบได้ในช่วงเดือนตุลาคมนี้
ส่วนชุมชนองค์การทอผ้าจะย้ายออกก็ต่อเมื่อที่พักทดแทนแล้วเสร็จ ซึ่งก็เป็นผลกระทบที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้าออกไปอีก และไม่มีทางที่จะสร้างเสร็จทันวันที่ 15 ธันวาคมนี้แน่นอน
เพราะหากได้รับพื้นที่ ร.ร.โยธินบูรณะและชุมชนทอผ้าแล้ว ในเดือนตุลาคม บริเวณจุดดังกล่าวก็จะมีการก่อสร้างใต้ดิน ทำทางเดินเชื่อมตัวอาคารหลักและมีการจัดแสดงความเป็นมาของรัฐสภา โดยด้านบนจะเป็นพื้นที่สวนหย่อมหรือลานประชาชน ที่เป็นพื้นที่ไว้ใช้รองรับประชาชนหากมีการชุมนุม
ดังนั้นแน่นอนว่า ทาง "ผู้รับจ้าง" จะต้องมีการขอขยายเวลาเพิ่มอีกแน่นอน เพราะที่ผ่านมา "ผู้ว่าจ้าง" หรือรัฐสภา เป็นผู้ผิดเงื่อนไขสัญญาเอง ตั้งแต่การส่งมอบพื้นที่ล่าช้าและการขนดินออกจากพื้นที่ล่าช้า เพราะเดิมในสัญญากำหนดไว้ชัดเจนว่าจะต้องขุดดินออกให้แล้วเสร็จภายใน 251 วัน แต่การดำเนินการจริงมีการดำเนินการร่วม 600 วัน โดย "ผู้รับจ้าง" จะมีการร้องขอชดเชยเวลาอีกประมาณ 600 วัน และได้มีการเสนอขอไปยังรัฐสภาแล้ว
เดิมสัญญาการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ลงนามเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2556 และสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 เป็นเวลา 900 วัน และมีการต่อสัญญาครั้งที่ 2 อีก 387 วัน โดยจะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 15 ธันวาคม 2559 และหากมีการต่อสัญญาครั้งที่ 3 ออกไปอีก 600 วัน เท่ากับว่าใช้เวลากับการก่อสร้างสัปปานะสภาสถาน ร่วม 6 ปี และจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2561
จึงอยู่ที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่าจะมีการพิจารณาอย่างไร!!