หลังจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบ(7มิ.ย.59)ในหลักการร่าง พระราชบัญญัติ(พรบ.)ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะนำมาบังคับใช้แทนพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
โดยเป็นการปรับปรุงการเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งประกอบด้วย เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง เทศบาลนคร องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยาสามารถจัดเก็บภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2560 ทั้งนี้ประมาณการรายได้จัดเก็บของอปท.จะเพิ่มปีละกว่า 6 หมื่นล้านบาทนั้น
คาดสิ้นปีประเมินเสร็จทั้ง 18 ล้านแปลงทั่วประเทศ
“ฐานเศรษฐกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ ถึงการเตรียมความพร้อมข้อมูลการประเมินราคาที่ดินทั่วประเทศ โดยอธิบดีระบุว่า
ขณะนี้มีความคืบหน้าไปอย่างมากแล้ว คาดว่าสิ้นปีจะประเมินแล้วเสร็จทั้ง 18ล้านแปลงทั่วประเทศ จากปัจจุบันคืบหน้าแล้ว 13.7 ล้านแปลง ซึ่งอยู่ระหว่างขอสำนักงบประมาณอนุมัติงบประมาณ 800ล้านบาทสำหรับการจัดทำข้อมูล
โดยแบ่งงบการใช้เงินออกเป็นการพัฒนาระบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์จำนวน 300 ล้านบาทและอีก 500 ล้านบาทที่เหลือจะเป็นการจ้างบุคลากรในการนำข้อมูลใส่เข้าสู่ระบบเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลไปยังหน่วยงานอื่นๆ เพื่อคำนวณราคาที่ดินรายแปลง
“หากในอนาคตมีการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพของที่ดินหรือมีการพัฒนาถนน โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ กรมฯ จะสามารถนำข้อมูลประมวลผลผ่านซอฟต์แวร์ได้ทันที"
"เช่น เมื่อมีถนนเกิดขึ้น เช่น 4 เลนหรือ 8 เลน หรือระบบไฟฟ้าแรงสูงตลอดจนมีการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่โดยเฉพาะการมีรถไฟฟ้าเข้าถึงพื้นที่จะทำให้ราคาพื้นที่บริเวณรายรอบมีการขยับราคาขึ้นโดยอัตโนมัติ และเปลี่ยนแปลงทันที ซึ่งซอฟต์แวร์จะเป็นตัวคำนวณราคาสะท้อนข้อมูลที่แท้จริงมากขึ้น”
ดึงระบบดิจิตอลเชื่อมฐานข้อมูล
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันฐานข้อมูลเดิมของกรมธนารักษ์มีการใช้ข้อมูลดิจิทัลเพียงบางส่วน ที่เหลือเจ้าหน้าที่ต้องประเมินโดยใช้โฉนดที่เป็นกระดาษ
เนื่องจากต้นทางคือกรมที่ดินยังทำระบบดิจิทัลไม่ครบทั้งหมด ดังนั้นเมื่อกรมที่ดินทำระบบโฉนดดิจิทัลแล้วเสร็จ จึงจะเชื่อมโยงข้อมูลของกรมที่ดินเข้ามาอยู่ในระบบของกรมธนารักษ์อัตโนมัติ
นอกจากนี้ข้อมูลของทางกรมฯยังเชื่อมตรงไปยังหน่วยงานส่วนท้องถิ่นทั้งหมด
ซึ่งจะเป็นประโยชน์จากการทำฐานข้อมูลที่เป็นระบบคอมพิวเตอร์และสามารถมีฐานข้อมูลร่วมกันในอนาคต คาดว่าฐานข้อมูลจะพัฒนาและใช้ได้จริงภายในปี 2560
ซึ่งแน่นอนว่ายังเป็นการเชื่อมโยงไปถึงเอกชนที่สามารถนำข้อมูลจากกลุ่มไปใช้ เช่น ธนาคาร สถาบันการเงิน ตลอดจนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการตรวจสอบข้อมูล และจะเป็นฐานของภาษีที่ดินฯที่จะจัดเก็บต่อไปในอนาคต ซึ่งกรมฯ จะให้บริการต่อไปในอนาคต
ขณะเดียวกันก็จะมีราคาสิ่งปลุกสร้างที่จะตามมาในกฎหมายฉบับนี้
ซึ่งหน่วยงานส่วนท้องถิ่นจะต้องเป็นผู้ประเมินเพื่อจัดเก็บภาษีต่อไป และอนาคตระบบดิจิตอลที่อยู่ระหว่างการพัฒนาจะรองรับราคาที่ดินรายแปลงทั้งหมด และที่สำคัญยังรองรับราคาสิ่งปลูกสร้างรายแปลงอีกด้วย
เพราะฉะนั้น ถ้าท้องถิ่นสามารถประเมินและทำราคาสิ่งปลูกสร้างได้ทั้งหมดแล้ว เมื่อถึงเวลาประเมินภาษีที่ดินฯ แล้วสามารถนำข้อมูลสิ่งปลูกสร้างมาใส่ในระบบ สามารถรายงานออกมาได้เลยว่า ที่ดินแต่ละแปลงเพื่อรวมกับสิ่งปลูกสร้างแล้วควรจัดเก็บอัตราภาษีอยู่ที่เท่าใด
วาง 5 รูปแบบประเมินราคาทรัพย์/สิ่งปลูกสร้าง
ในแง่ของการจัดเก็บนั้น อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า
เดิมส่วนท้องถิ่นประเมินราคาทรัพย์สิน/สิ่งปลูกสร้างอยู่แล้ว เพียงแต่ในอดีตจะมีรูปแบบหลากหลาย
แต่ภายใต้พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯจะมีเพียง 5รูปแบบ โดย 4 รูปแบบแรกจะเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย คือ บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ บ้านแถว และอาคารพาณิชย์ ตามพระราชบัญญัติกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเรื่องการขอก่อสร้างที่อยู่อาศัย
ส่วนรูปแบบที่ 5 ว่าด้วยเรื่องอื่นๆ เช่นโกดัง หรือโรงแรมซึ่งหน่วยงานท้องถิ่นจะต้องประเมินแยกออกไปอีกรูปแบบ
“การประเมินราคาใน 4 รูปแบบสำหรับที่อยู่อาศัยจะง่ายมากขึ้น ยึดตามพื้นที่หรือขนาดพื้นที่ใช้สอยแต่ละบ้าน คือ ต่อ 1 ตารางเมตร เช่น ที่อยู่อาศัย 100 ตารางเมตรก็คูณกับอัตราภาษีที่จัดเก็บ ดังนั้นกรณีบ้านที่ก่อสร้างขึ้นด้วยวัสดุจะแพงหรือถูกจึงไม่ส่งผลต่อการประเมินอัตราภาษีที่จัดเก็บ”
ที่สำคัญเป็นการลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นช่องโหว่ของการทุจริต
ส่วนการจัดเก็บขึ้นอยู่กับกระทรวง มหาดไทยจะต้องออกประกาศกำหนดอัตราที่เหมาะสมให้กับแต่ละท้องถิ่น ว่าควรจัดเก็บในอัตราใด หรืออาจเปิดช่องให้แต่ละท้องถิ่นสามารถจัดเก็บรายได้ตามระดับ ในอัตราที่ต่ำหรือสูง แต่ต้องไม่เกินเพดานที่กำหนดไว้แต่ละกลุ่ม
เพื่อให้ภาษีที่สมควรเก็บได้ไม่หลุดหายไประหว่างทาง โดยคำนวณบนพื้นฐานมูลค่าของทรัพย์สิน
ยึดหลักการปชช..ไม่เดือดร้อนรัฐไม่เสียประโยชน์
ทั้งนี้ในหลักการ ไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนมาก และรัฐจะต้องไม่เสียประโยชน์
ซึ่งแต่ละท้องถิ่นการจัดเก็บรายได้ของทรัพย์สินย่อมแตกต่างกันอยู่แล้ว
ดังนั้นการจัดเก็บภาษีที่แพงขึ้นคงต้องขึ้นอยู่กับว่าการพัฒนาของท้องถิ่นว่ามีมากน้อยเพียงไร
ทั้งระบบถนน ระบบประปา ระบบไฟฟ้าหรือโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆเหมาะสมที่จะจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้นหรือไม่
ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของท้องถิ่นนั้นเช่นกัน
อย่างนั้นการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะสร้างความเป็นธรรม เรียกว่าใครมีทรัพย์สินเยอะก็ต้องจ่ายเยอะ
“ในอดีตที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าภาครัฐเสียประโยชน์ไปเยอะขณะที่คนได้ประโยชน์ก็เยอะแต่ต่อไปก็คงจะเริ่มเข้าสู่จุดสมดุลเพราะการจัดเก็บรายได้หรือทุกอย่างจะใช้หลักวิทยาศาสตร์ไม่ใช่คิดเอาเองว่าบ้านหลังนี้เก็บภาษีเท่านี้ต่อไปปัญหาเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้นอีก”
บ้าน/อาคารอาจจ่ายภาษีในอัตราที่ลดลง
สำหรับการจ่ายภาษีสำหรับทรัพย์สินที่เป็นบ้านหรืออาคาร มีแนวโน้มว่าอาจเสียในอัตราที่ลดลง
เนื่องจากมีการนำค่าเสื่อมมาประกอบการจัดเก็บในปีถัดไป
เช่น เมื่อประเมินมีการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและอาศัยต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปีจะมีการคิดค่าเสื่อมเข้ามาอยู่ในการประเมินอัตราภาษี
ส่วนภาษีที่ดิน
เข้าใจว่าทุกคนจะต้องจ่าย ไม่ว่าจะเป็นแปลงเล็กหรือแปลงใหญ่
หากกรณีที่เป็นสิ่งปลูกสร้าง เช่นบ้านหากราคาต่ำกว่า 50 ล้านบาทก็ยังไม่ต้องจ่ายภาษี ถือเป็นการสนับสนุนให้เกิดการจ่ายภาษี และมีการใช้ที่ดินอย่างเต็มศักยภาพ ไม่ใช่ถือครองหรือปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ ก็จะถูกเก็บในอัตราที่สูงขั้น 2 เท่า
เพราะฉะนั้นในอนาคตภาษีที่ดินจะเป็นเครื่องจักรสำคัญให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างต่อเนื่องและเต็มศักยภาพ
ราคาที่ราชพัสดุจะใกล้เคียงเอกชน
นายจักรกฤศฏิ์ ให้สัมภาษณ์ในตอนท้ายว่า
สำหรับที่ราชพัสดุซึ่งเป็นที่ดินรายแปลง ต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะที่ดินที่นำไปพัฒนาเชิงพาณิชย์ร าคาจะใกล้เคียงกับราคาของเอกชน
รวมถึงระบบการบริหารจัดการที่ดินในการเปิดเช่านั้น จะใช้ระบบการประมูลไปแข่งขันกันที่ผลตอบแทน
ที่สำคัญเมื่อทางกรมเปิดประมูล ที่ราชพัสดุแปลงนั้นจะสามารถกำหนด ราคาขั้นต่ำของที่ดินแต่ละแปลงได้ชัดเจน หรือลบล้างประเด็นการมีผู้ทรงอิทธิพลที่จะเข้ามาบีบราคาที่ราชพัสดุให้ต่ำลง
ซึ่งท้ายสุดการจัดเก็บรายได้จากการเปิดเช่าหรือประมูลที่ราชพัสดุก็จะสูงขึ้นจากปัจจุบัน