ซี.พี.แลนด์ เดินหน้าขยายลงทุนโรงแรม หวังสร้างชื่อแบรนด์ “ฟอร์จูน” ให้ติดตลาด วางเป้าลงทุนปีละ 2,000 ล้านบาท คาดในช่วง 2 ปี เปิดให้บริการอย่างน้อย 5-6 โรงแรมตามเมืองที่มีศักยภาพ และหัวเมืองท่องเที่ยว พร้อมผุดโรงแรมราคาประหยัด ขยายฐานลูกค้า นักเดินทาง นักธุรกิจ พร้อมประกาศตัวร่วมเป็นพันธมิตรกับ ปตท.ผุดโรงแรมราคาประหยัดในปั๊มน้ำมัน 50 แห่ง ชูจุดแข็งเครือข่ายซีพี พนักงานกว่า 2 แสนคน ยันไม่สลัดแนวคิดไปตั้งโรงแรมในยุโรป แย้มปี 62 สนใจตั้งกองรีทส์
น.ส.นราวดี วรวณิชชา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานการลงทุนและบริหารโรงแรม บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) บริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวถึงแผนการขยายธุรกิจโรงแรมภายใต้แบรนด์ “ฟอร์จูน” ว่า ทาง ซี.พี.แลนด์ฯ ยังคงสร้างการเติบโตของธุรกิจโรงแรมอย่างต่อเนื่อง โดยตามแผนจะเปิดให้ครบ 10 โรงแรม ซึ่งในปีนี้วางงบลงทุนพัฒนาโครงการรวมราคาที่ดินไว้ประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งตามแผนในปีนี้ และต่อเนื่องปี 2560 บริษัทมีแผนลงทุนสร้างโรงแรมราคาประหยัด หรือ “บัดเจ็ต โฮเทล” โดยตั้งเป้าเปิดใหม่ปีละ 5-6 แห่ง มูลค่าการลงทุนรวม 1,000-1,200 ล้านบาท (แล้วแต่ขนาดที่ดิน) โดยโรงแรมจะอยู่ในทำเลติดถนนใหญ่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ ในการเดินทาง
ซึ่งในปี 2559 บริษัทมีแผนการขยายการลงทุนในธุรกิจโรงแรม ภายใต้แบรนด์ “ฟอร์จูน” ได้แก่ โรงแรมฟอร์จูน วิวโขง มูลค่า 110 ล้านบาท ซึ่งเปิดบริการแล้ว โรงแรมฟอร์จูน ริเวอร์วิว เชียงของ จ.เชียงราย มูลค่า 270 ล้านบาท และในครึ่งปีหลังเปิดโรงแรม ฟอร์จูน ดี แม่สอด มูลค่า 200 ล้านบาท ส่วนในปี 2560 มีแผนเปิดโรงแรม ฟอร์จูน ดี พลัส เขาใหญ่ โรงแรม ฟอร์จูน ดี เลย และโรงแรม ฟอร์จูน ดี บุรีรัมย์ โดยก่อนหน้านี้ ได้เปิดโรงแรม ฟอร์จูน ริเวอร์วิว นครพนม มูลค่า 270 ล้านบาท ไปแล้ว ทั้งนี้ ในด้านอัตราค่าบริการแบรนด์ ฟอร์จู ดี ราคา 750 บาทต่อคืน แบรนด์ ฟอร์จู ดี พลัส ราคา 1,200-1,400 บาทต่อคืน
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจโรงแรม โดยจะมุ่งเน้นในจังหวัดที่มีความสามารถแข่งขันได้ ซัปพลายน้อยกว่าดีมานด์ เป็นหัวเมืองท่องเที่ยว หัวเมืองเมืองใหญ่ และในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ เช่น ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา ซึ่งการแข่งขันยังไม่สูงมากนัก นอกจากนี้ ยังสนใจในพื้นที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น ภูเก็ต และพัทยา เป็นต้น
น.ส.นราวดี กล่าวถึงในส่วนที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT มีนโยบายที่จะหาพันธมิตรในการพัฒนาโรงแรมราคาประหยัดในสถานีบริการน้ำมันของ ปตท. 50 แห่ง จาก 1,300-1,500 แห่งทั่วประเทศ ที่มีศักยภาพพัฒนาเป็นโรงแรมได้ภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้านั้น บริษัทฯ ก็สนใจที่จะไปใช้พื้นที่ด้วยเช่นกัน ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการเพื่อเข้าเจรจาร่วมเป็นพันธมิตรกับ ปตท. ส่วนรายละเอียดนั้นต้องรอหลังการเจรจาว่า ปตท.ว่าจะให้เข้าไปดำเนินการในรูปแบบของการร่วมทุน หรือให้เช่าพื้นที่พัฒนา เพราะการทำธุรกิจก็ต้องยึดหลักวินวินด้วยกัน
“เรายังสงสัย ปตท.ไม่ชวนเรา เราสนใจที่จะนำโรงแรมราคาประหยัดเข้าไปให้บริการ แต่เรากำลังเข้าไปดิวกับ ปตท. ซึ่งเรามองขาดว่า ตลาดตรงไหนทำได้ ตรงไหนทำไม่ได้ เพราะเรามีข้อได้เปรียบตรงที่เราฝังตัวในต่างจังหวัดมานาน โดยทำเลที่เหมาะในการทำโรงแรมควรเน้นพื้นที่ที่มีการสัญจรมาก ขาดแคลนโรงแรมขนาดเล็ก และโรงแรมขนาดใหญ่ไม่ลงไปเล่น แต่ปั๊มในกรุงเทพฯ ไม่เหมาะ เพราะราคาแพง ทั้งนี้ การทำโรงแรมเราต้องคำนึงถึงเรื่องผังสีในแต่ละทำเล ส่วนใหญ่สร้างได้ไม่เกิน 8 ชั้น เนื่องจากมีความคล่องตัวในเรื่องที่ไม่ต้องขออนุญาตสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ขนาดของห้องพักก็น่าจะประมาณ 20 ตารางเมตร โดยบริษัทฯ จะเน้นจุดแข็งที่มีพนักงานเครือซีพีที่มากกว่า 200,000 คนทั่วประเทศ รวมไปถึงธุรกิจในเครือของซีพีที่มีความแข็งแกร่ง อีกทั้งยังมีจุดแข็งในเรื่องข้อมูลตลาดต่างจังหวัด”
ปัจจุบัน บริษัทมีแบรนด์โรงแรมในเครือรวม 5 แบรนด์ ได้แก่ ระดับห้าดาว แบรนด์แกรนด์เมอร์เคียว ระดับสี่ดาว ฟอร์จูน ริเวอร์วิว ระดับสามดาว ฟอร์จูน และระดับสองดาว ฟอร์จูนดี ฟอร์จูนดีพลัส อย่างไรก็ตาม ในอีก 3 ปีข้างหน้า บริษัทตั้งเป้ามีจำนวนห้องพักเพิ่ม 700-800 ห้อง หรือประมาณ 5-6 โรงแรม จากปัจจุบัน ซี.พี.แลนด์ มีห้องพักให้บริการกว่า 1,000 ห้อง โดยปัจจุบัน โครงสร้างรายได้ของ ซี.พี.แลนด์ 70% มาจากธุรกิจการให้บริการ และ 30% มาจากรายได้จากการขายจากโครงการคอนโดมิเนียม และคาดว่าภายในปี 2561 รายได้จากการขาย และรายได้จากการบริการจะมีสัดส่วนเท่ากัน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธุรกิจโรงแรม รอบของการคืนทุนจะต้องใช้เวลานานประมาณ 7-8 ปี
ยังคงมีแนวคิดไปปักธงในยุโรป
สำหรับนโยบายเกี่ยวกับการเข้าไปลงทุนโรงแรมในตลาดต่างประเทศนั้น น.ส.นราวดี กล่าวยืนยันว่า “เราจะไปยุโรป เรามีแผนจะไปปักธง แม้จะยังไม่มีความคืบหน้า แต่เรายังไม่เอาออกจากหัวสมอง แต่เรามองว่า ในช่วงนี้น่าไปลงทุนในยุโรป เพราะผลจาก Brexit การที่อังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรปมีผลต่อทิศทางของค่าเงินที่ถูกลงประมาณ 10% ใช้เงินลดลงในการซื้อสินทรัพย์ แต่ในแง่ของราคาสินทรัพย์ก็ไม่ได้มีแนวโน้มลดลง ซึ่ง ซี.พี.แลนด์ สนใจหลายประเทศ เช่น โครเอเชีย สเปน อังกฤษ และอิตาลี”
สนใจนำโรงแรม “บัดเจ็ต โฮเทล” ตั้งกองรีทส์
น.ส.นราวดี กล่าวว่า ทาง ซี.พี.แลนด์ ก็มีแนวคิดที่จะนำโรงแรมแบรนด์ “ฟอร์จูน” มาจัดตั้งเข้ากองรีทส์ โดยคาดว่าจะเห็นผลชัดเจนหลังโรงแรมต่างๆ เปิดดำเนินการได้ตามแผนภายในปี 2562 เนื่องจากจะมีผลประกอบการที่ดีเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตัวเลขกำไรที่จะเกิดขึ้นให้ได้ตามหลักเกณฑ์การจัดตั้งกองรีทส์เป็นเวลาติดต่อ 3 ปี