ถือเป็นความท้าทายสุด ๆ ของ "กลุ่มเซ็นทรัล" เลยนะครับ สำหรับการมาบุกสยามสแควร์ แหล่งช็อปปิ้งขวัญใจทุกช่วงวัย และรายล้อมด้วยเจ้าถิ่นรอบตัวอย่าง “กลุ่มสยามพิวรรธน์” และ “กลุ่มเอ็ม บี เค” (เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสยามพิวรรธน์)
โดยในส่วนของพื้นที่ Block A ที่ทางเซ็นทรัลได้ครองไปนั้น ส่วนตัวแล้วผมว่าเป็นพิกัดทำเลสุดไพรม์ของสยามสแควร์เลยทีเดียวนะ เพราะตั้งอยู่บริเวณสี่แยกปทุมวัน จุดตัดระหว่างถนนพญาไท กับถนนพระรามที่ 1 เป็นหัวมุมแยกพอดี
หรือถ้าใครนึกไม่ออกก็คือช่วงตึกของโรงภาพยนตร์สกาลานั่นเองครับ ซึ่งปัจจุบันนี้ยังมีอาคารพาณิชย์ สูง 3 – 4 ชั้น จำนวน 79 คูหา ส่วนใหญ่ประกอบกิจการหลากหลาย เช่น คลินิก ร้านอาหาร ร้านขายสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง ธนาคาร และโรงเรียนกวดวิชารวมตัวกันอยู่ด้วย
ความน่าสนุกก็คือพื้นที่บริเวณนี้เกือบทั้งหมดล้วนเป็น "การเช่าระยะยาว" ที่มีการใช้สอยพื้นที่อย่างหลากหลาย วันนี้ติดดอยเลยจะพาไปส่องกันครับว่า Block A ที่เซ็นทรัลได้มานั้นมีรายละเอียดยังไง และพื้นที่เขตพาณิชย์สยามสแควร์ Block อื่น ๆ นั้นเป็นของใคร มีการใช้งานอะไรไปแล้วบ้าง
Block A ทำเลสุดไพรม์ที่มาพร้อมกับความท้าทาย
หลังจากที่ทาง “สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” (PMCU) ประกาศเชิญชวนเอกชนยื่นข้อเสนอพัฒนาพื้นที่ Block A ไปเมื่อ 9 กรกฎาคม 2564 โดยมีการระบุข้อกำหนดและหลักเกณฑ์การเข้าร่วมยื่นข้อเสนอสุดท้าทายไว้ด้วย
ระบุว่า จากเนื้อที่ทั้งหมด 7 ไร่ 31 ตารางวา อนุญาตให้ก่อสร้างโครงการภายในกรอบพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ 3 งาน 89 ตารางวา โดยต้องเว้นระยะร่นบนพื้นที่ถนนสยามสแควร์ซอย 7 จำนวน 6 เมตร และสยามสแควร์ซอย 1 จำนวน 9 เมตร เป็นอย่างน้อยตลอดระยะเวลาการก่อสร้าง และการดำเนินการ
เท่ากับว่าพื้นที่นี้ “เซ็นทรัลพัฒนา” จะสามารถก่อสร้างและพัฒนา “ตัวอาคาร” ได้ประมาณ 5 ไร่ 3 งาน 89 ตารางวา หรือราว 9,556 ตารางเมตรเท่านั้นเองครับ เลยต้องมาลุ้นกันว่าจะพัฒนาออกมาเป็นรูปแบบไหน ให้เกิดความคุ้มกับค่าเช่าที่จะเสีย
โดยหากไม่มีการเปลี่ยนแปลง การเช่าพื้นที่ Block A ระยะเวลา 30 ปีนี้ เซ็นทรัลจะมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 5,902 ล้านบาท (ค่าตอบแทนการทำสัญญา (Upfront) 742 ล้านบาท + ค่าตอบแทนรายปี เป็นระยะเวลา 30 ปี 5,160 ล้านบาท)
ยังไม่รวมข้อกำหนดที่ให้ผู้พัฒนาพื้นที่ Block A ต้องดำเนินการออกแบบและก่อสร้างทางเชื่อมกับอาคาร “Siamscape” และ Block B รวมถึงรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการเปิดให้บริการทางเชื่อมดังกล่าวด้วยตนเองอีกด้วยนะ
Block อื่นใครถือสิทธิ์ และเป็นอาคารอะไรอยู่บ้าง?
อีกหนึ่งข้อกังขาของการพัฒนาพื้นที่ Block A ก็คือการเลือกใช้ประโยชน์ที่ดินว่าจะทำเป็นโครงการรูปแบบไหนเนี่ยแหละครับ เพราะหลายเสียงต่างก็บอกกันว่าย่านนี้ "ห้างสรรพสินค้าเยอะเกินไปแล้ว"
ซึ่งจากรายงานข่าวจากบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น ให้ข้อมูลเรื่องนี้ว่า สํานักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ จะส่งมอบพื้นที่ให้ในต้นปี 2565 และบริษัทก็จะเดินหน้าโครงการทันทีเลยครับ
หลัก ๆ จะเป็นการรีโนเวตโครงสร้างเดิมให้เป็นศูนย์การค้าขนาดเล็กในลักษณะของคอมมิวนิตี้มอลล์ เป็นการเติมเต็มให้สยามสแควร์เป็นช็อปปิ้งสตรีต คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีเศษ และเปิดให้บริการได้ในปี 2566 เจาะกลุ่มนักศึกษาและคนทำงาน
จากข้อมูลนี้เองทำให้มั่นใจได้เลยว่ายังไงก็หนีไม่พ้นการเป็นห้างสรรพสินค้าอีกอีกนั่นแหละ เพียงแต่ต้องมีการออกแบบ สร้างขึ้นมาให้ตอบโจทย์ รู้สึกแปลกใหม่ และเกิดพื้นที่สาธารณะประโยชน์ที่มากกว่าการช็อปปิ้งทั่วไป
โดยพื้นที่ “เขตพื้นที่สยามสแควร์” (Siam District) ทั้งหมดนั้นเป็นพื้นที่ของ 'สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย' (PMCU) แต่ใช้โมเดลปล่อยให้เอกชน และผู้ประกอบการรายย่อยเข้ามา เช่า-เซ้ง รวมไปถึงให้เอกชนพัฒนาโครงการขึ้นเองด้วย
ดังนั้นผมเลยรวบรวมข้อมูลของพื้นที่ Block อื่น ๆ มาแชร์ให้ผู้อ่านทุกคนได้ดูกันครับว่าตอนนี้ใครถือสิทธิ์และมีการใช้สอยพื้นที่ยังไงกันอยู่บ้าง เผื่อจะช่วยกันเสนอแล้วส่งเสียงไปถึงเซ็นทรัลเค้าบ้าง จะได้มีพื้นที่ ๆ ถูกใจเราทุกคนกัน 5555
- Block A : ก่อนนจะส่งไม้ให้กับทางเซ็นทรัล พื้นที่นี้เป็นที่ตั้งของ "โรงภาพยนตร์สกาลา" โรงหนังแบบ Stand Alone ที่ยืนหยัดกัดฟันสู้มาเนิ่นนาน รายล้อมไปด้วยอาคารพาณิชย์ที่ประกอบกิจการหลากหลาย เช่น คลินิก ร้านขายสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง ธนาคาร และโรงเรียนกวดวิชา นอกจากนี้ถ้าใครเลยไปเดินแถวนั้น อาจจะเคยพบเจอกับซอยลับที่รวมร้านขายอาหารไว้เพียบ เหมือนเป็นที่ฝากท้องแบบสบายกระเป๋าสำหรับชาวสยามก็ว่าได้ เป็นซอยที่ผมแอบแวะไปบ่อย ๆ เลยล่ะ 5555
- Block B : ปัจจุบันเป็น 'อาคารพาณิชย์' ประกอบกิจการหลากหลาย เช่น True Branding Shop คลินิก ร้านอาหาร ร้านขายสินค้าแฟชั่น และเครื่องสำอาง ซึ่งพื้นที่บล็อกนี้อยู่ในข้อตกลงที่ผู้ได้สิทธ์เช่าบล็อก A ต้องทำทางเชื่อมและรับผิดชอบค่าใช้จ่างหลังเปิดใช้งานแล้วด้วยครับ
- Block C : "Lido Connect" ที่ได้กลุ่ม LOVEis มาเป็นพันธมิตรกับทางทรัพย์สินจุฬา พลิกโฉมโรงภาพยนตร์ในตำนานแห่งนี้ ให้กลายเป็นพื้นที่ “Multi-function” ด้านศิลปะ วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ทุกแขนง โดยภายในโครงการและอาคารพาณิชย์โดยรอบยังมีร้านค้าอีกหลากหลายประเภท
- Block D : "Centerpoint of Siam Square" ศูนย์การค้าจาก 'ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์' ที่ผ่านการปรับโฉม “ดิจิตอล เกตเวย์” ปัจจุบันดูเหมือนว่าพื้นที่ไอทีจะลดลงไปกว่าเดิม แต่ก็เพิ่มเติมมาด้วยร้านขายสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง ร้านอาหาร และคลินิกนิดหน่อยครับ
- Block E : "Siam Square One" หรือที่หลายคนคุ้นหูกันในชื่อ "สยามร้อน" โดยโครงการนี้เป็นโครงการที่ทาง 'สำนักงานจัดการทรัพย์สินฯ' ได้พัฒนาเป็น “Urban Shopping Street” บนพื้นที่ 8 ไร่ ให้เป็นทั้งศูนย์การค้า พื้นที่ส่วนกลางทางเดิน ลานกิจกรรม และโรงละคร ภายในมีร้านค้าหลากหลายแต่ที่ผมเห็นหลัก ๆ ก็หนีไม่พ้นร้านเสื้อผ้า สินค้าแฟชั่น และร้านอาหารครับ
- Block F : บล็อกนี้ค่อนข้างมีการใช้งานพื้นที่หลากหลายเลยครับ แต่ที่โดดเด่นและกินพื้นที่เยอะที่สุดของบล็อกก็คือ "Novotel Bangkok on Siam Square" ของทาง 'AccorHotels' ส่วนพื้นที่บล็อกที่เหลือประกอบด้วยอาคารพาณิชย์ ประกอบกิจการหลากหลาย เช่น ธนาคารกรุงเทพ โรงเรียนกวดวิชา ร้านอาหาร ร้านขายสินค้าแฟชั่น และเครื่องสำอางครับ
- Block G : ปัจจุบันเป็น 'อาคารพาณิชย์' ประกอบกิจการหลากหลาย เช่น คลินิก ร้านอาหาร คาเฟ่ ธนาคาร ร้านตัดผม ร้านขายสินค้าแฟชั่น และเครื่องสำอาง
- Block H : "SIAMSCAPE" อีกโครงการของทาง 'สำนักงานจัดการทรัพย์สินฯ' กับการพัฒนาอาคารโบนันซ่าเดิม ให้เป็นโครงการรูปแบบ Mixed-use ประกอบไปด้วย ศูนย์รวมการเรียนรู้ (Learning Space) จะดึงสถาบันติวมาอยู่ที่นี่ และมีศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life long learning) , อาคารสำนักงานสมัยใหม่, พื้นที่รีเทล ภายใต้คอนเซ็ปต์ “LIFE & LEARNING EXPERIENCES”
ที่ผมว่าน่าสนใจก็คือตัวโครงการถูกออกแบบให้เป็น “Parking Node” ของสยามสแควร์ด้วยอาคารที่จอดรถติดถนนพญาไท ที่สามารถรองรับรถได้กว่า 700 คัน เพื่อสอดคล้องกับแนวคิดในการพัฒนาสยามสแควร์ให้เป็น “ถนนคนเดิน” หรือ Walking & Shopping Street อย่างเต็มรูปแบบ
ซึ่งพื้นที่บล็อกนี้อยู่ในข้อตกลงที่ผู้ได้สิทธ์เช่าบล็อก A ต้องทำทางเชื่อมและรับผิดชอบค่าใช้จ่างหลังเปิดใช้งานเช่นเดียวกันกับบล็อก B ด้วยนะครับ ดังนั้นในอนาคตเราก็จะสามารถเดินทะลุทั้ง 3 บล็อกนี้ในสยามสแควร์ได้ โดยที่เท้าเราไม่แตะพื้นดินเลย 55555
- Block I : หลายคนคงจะคุ้นเคยบล็อกนี้กันดีกับร้าน "Hard Rock Cafe" ที่อยู่คู่สยามสแควร์มายาวนานกว่า 30 ปีจนทำให้พื้นที่ว่างด้านหน้าได้ชื่อ "ลานฮาร์ดร็อค" ตามไปด้วย แต่แล้วเมื่อหมดสัญญาเช่าที่ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บวกกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปหมด ทำให้ร้านอาหารแฟรนไชส์แบรนด์ดังระดับโลกแห่งนี้ต้องประกาศปิดตัวลง
เบื้องต้นบล็อกนี้ทาง 'สำนักงานทรัพย์สิน' เลยมีแผนจะดึงกลับมาบริหารเอง โดยขณะนี้ได้มีการรีโนเวตอาคารดังกล่าวใหม่ เพื่อปรับให้เป็นพื้นที่รีเทลสำหรับเช่า เบื้องต้นมีแบรนด์ชั้นนำหลายกลุ่มที่สนใจและต้องการจะเข้ามาเปิดสโตร์
โดยกลุ่มที่มาวินกว่าใครก็ต้องยกให้กับ "King Power" เนี่ยแหละครับ แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปนะ ยังมีร้าน Fire Tiger Bar & Restaurant และร้าน EBOMB Egg Sandwiches & Fries ที่กำลังเจรจาอยู่เหมือนกัน คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปี 2564 หรือต้นปี 2565
ซึ่งเมื่อพื้นที่ดังกล่าวแล้วเสร็จก็จะออกมาเป็นกึ่ง ๆ ศูนย์การค้าที่มีแบรนด์ต่าง ๆ มาเปิดสโตร์อยู่ภายในครับ โดยรูปแบบของแต่ละร้านจะเป็น concept store ที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับศูนย์โดยไม่เหมือนใคร เพื่อสร้างเอกลักษณ์และความแตกต่างในการดึงลูกค้าครับ
- Block J : บล็อกนี้เป็นบล็อก 'อาคารพาณิชย์' เช่นกันครับ ประกอบไปด้วยกิจการหลากหลาย ทั้งร้านอาหาร คาเฟ่ ร้านตัดผม ร้านถ่ายรูป ร้านขายสินค้าแฟชั่น และเครื่องสำอาง
- Block K : บล็อกนี้จะมีการใช้พื้นที่คล้างคลึงกับบล็อก J ที่ผ่านมาเลยครับ เป็นบล็อก 'อาคารพาณิชย์' ที่ประกอบไปด้วยกิจการหลากหลาย แต่มีความพิเศษกว่าตรงที่บล็อกนี้จะมีลานตรงกลางที่สามารถจอดรถได้ด้วย
- Block L : “สยามกิตติ์” เป็นอาคาร Mixed-use ที่แบ่งการดำเนินโครงการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 อาคารส่วนฐาน 'สำนักงานจัดการทรัพย์สินฯ' เป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง ตั้งแต่ชั้น G และ ชั้น 1 – 10 เพื่อเป็นพื้นที่เช่าสำหรับโรงเรียนกวดวิชา ร้านค้า ร้านอาหาร และพื้นที่จอดรถ
ระยะที่ 2 วางแผนสร้างเป็นอาคารสูง สำหรับสร้างเป็นโรงแรมเชนระดับโลกขนาด 400 ห้องระดับ 3 ดาว โดยเอกชนไทยเป็นผู้ลงทุน ด้วยการสิทธิมาบริหาร ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการพัฒนาครับ
อนาคตอันสดใสของย่านสยามสแควร์
สำหรับการพัฒนาพื้นที่ Block A ของทางเซ็นทรัลนั้นจะออกมาเป็นอาคารรูปแบบไหน พวกเราก็คงต้องรอลุ้นกันต่อไปครับ เพราะในตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลแผนพัฒนาหรือรูปแบบโครงการที่แน่ชัดออกมาให้รับรู้เลย
แต่ทั้งนี้ผมก็อยากให้เพื่อน ๆ ทุกคนมั่นใจกันนะครับ ไม่ว่ายังไงพื้นที่นี้จะต้องออกมาเกิดประโยชน์สูงสุด และตอบโจทย์การสร้าง “คุณค่าเพิ่ม” ให้สังคมอย่างแน่นอน
เพราะทาง “สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” (PMCU) เค้าได้กำหนดกรอบการพัฒนาแต่ละโซนของสยามสแควร์ให้มีคาแรกเตอร์ชัดเจน
เพื่อในที่สุดแล้วเมื่อประกอบรวมกันจะต่อจิ๊กซอว์ให้เป็นย่านแห่งไลฟ์สไตล์ – ย่านนวัตกรรม – การเรียนรู้ – ความคิดสร้างสรรค์ ภายใต้แนวคิด “Co-Creating Shared Values” ที่ต้องการพัฒนาที่ดินแห่งนี้ บนหลัก “3L”
คือ “Learning Style” เมืองแห่งความคิดสร้างสรรค์ – การเรียนรู้ครบวงจร / “Living Style” จัดสรรพื้นที่ให้เกิดการอยู่อาศัย และใช้ชีวิตด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี / “Lifestyle” แหล่งรวมไลฟ์สไตล์รูปแบบต่างๆ
เพราะงั้นอนาคตของ Block A ก็น่าจะเป็นอีกโครงการที่ส่งเสริมให้ให้ย่านสยามสแควร์ สามารถสะท้อนตัวตน และไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างของคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้นแน่นอนครับ
แล้วเพื่อน ๆ ล่ะครับ อยากให้ทางเซ็นทรัลพัฒนาพื้นที่นี้ออกมาเป็น 'คอมมิวนิตี้มอลล์' รูปแบบไหน อยากให้มีความแตกต่างยังไง ลองมาช่วยกันแบ่งปันความคิดเห็นกันดูครับ ไม่แน่นะ... เสียงเล็ก ๆ ของพวกเราอาจจะทำให้เกิดโครงการที่โลกต้องจดจำก็ได้ อิอิ
Tag : SIAM SQUARE | CPN | เซ็นทรัล
"LIFE สาทร - นราธิวาส 22"...นี่น่าจะเป็น คอนโด LIFE ที่มีคนสนใจมากที่สุดในปี 2025
"KAVALON" พัฒนาโดย "เจ้าพ่อแคมปัสคอนโด" แห่งยุคอย่าง AssetWise ซึ่งนี่ก็เป็นโครงการที่ 6 แล้ว ในโซน ม.กรุงเทพ รังสิต
สิ่งหนึ่งที่ผมตั้งตารอเวลาไปงานแถลงข่าวต้นปีของ AssetWise ก็คือ "ชื่อ" ของโครงการใหม่ๆในปีนั้นนั่นละครับ ยอมรับเลยว่า เป็น Dev ที่ตั้งชื่อโครงการได้แปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร ไพเราะเสนาะหู ช่างสรรหาจริงๆ 555
นาทีนี้จะมีทำเลไหนร้อนแรงเท่า 'พระราม 4' ตั้งแต่การมาของอภิมหาโปรเจกต์ใหญ่อย่าง One Bangkok ก็ดูเหมือนว่า ย่านที่ปังอยู่แล้วตรงนี้ จะยิ่งทวีคูณความปังสุดเข้าไปอีกระดับ
AP ที่เตรียมตัวปักหมุดใกล้ BTS ไปหมาดๆ แต่ต้องบอกว่าปีนี้ AP มาเพื่อบุกย่านอุดมสุข ของแทร่!!
โรงแรมใหม่มาเติมเมืองอีกแล้ว ยังไม่แน่ใจว่าจะลงเป็นเชนอะไร แต่ตัวนี้ตั้งติด MRT สถานีศูนย์วัฒนธรรมเลยครับ
เปิดประสบการณ์ "Pavilion Luncheon Experience" เซ็ตอาหารไทยเบาๆ 4 ที่จากโรงแรม Dusit Thani Bangkok
แผ่นดินไหวที่ผ่านมา.. บ้านหรือคอนโดเพื่อน ๆ ได้รับผลกระทบมากน้อยกันแค่ไหน?
'บิวกิ้นแม่งเล่นโคตรตลก' นี่คือคำพูดที่ผมพูดกับเพื่อนหลังดูภาพยนตร์เรื่อง 'ซองแดงแต่งผี' จบ
เปิดภาพแรกสนามบินภูฏานโฉมใหม่ สนามบินแห่งชาติที่จะเปลี่ยนภาพลักษณ์ของภูฏานตลอดไป
ยกให้เป็นร้านผลไม้เคลือบน้ำตาลที่ผมชอบที่สุด อร่อยที่สุด และหากินยากที่สุดด้วย!!!
เปิด “สโคป ทองหล่อ” อัลตร้าลักซ์ชูรี All-Penthouse แห่งแรกในไทย สร้างเสร็จสมบูรณ์บนทำเลทองย่านสุขุมวิท-ทองหล่อ