โครงสร้างธุรกิจของอสังหา เดินสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ มีความซับซ้อนมากขึ้น วันนี้ กลุ่มทุนใหม่รายใหญ่จากธุรกิจอื่นๆ อย่าง กลุ่มเบียร์สิงห์ เบียร์ช้าง ซีพีเอ็น ก้าวมาเป็นคู่แข่งขัน ทำให้เห็นภาพปรับโครงการสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ของบิ๊กอสังหาฯ มีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ
ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจพรีเมียม บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า
การแข่งขันของรายใหญ่ จะทำให้โครงสร้างอสังหาฯ เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
“2-3 ปีก่อน อาจพูดว่าเราเป็นบิ๊กอสังหาฯ แต่วันนี้ ตลาดอาจพลิกได้ง่ายๆ เก้าอี้ต้องวางไว้หลายๆ ขา หรือต้องมีถึง 10 ขา หากอ่อนแรงไปสัก 2 ขา เก้าอี้ 8 ขายังอยู่ได้”
โดยพฤกษา ปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยตั้งบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง เพื่อหาโอกาสและการขยายธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ประจำ อย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากรายได้จากอสังหาฯ
และยังมีเป้าหมายขยายลูกค้าระดับบน จากเดิมลูกค้าหลักคือกลุ่มรายได้ระดับต่ำถึงปานกลาง พร้อมศึกษาธุรกิจใหม่ รวมถึง โรงพยาบาล โดยตั้งงบลงทุนธุรกิจใหม่ราว 1,500 ล้านบาท ตั้งเป้า 5-10 ปีข้างหน้า มีสัดส่วนรายได้อสังหาฯ 80% ธุรกิจอื่น 20%
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจ้างบริษัทที่ปรึกษาจากสิงคโปร์ เพื่อปรับภาพลักษณ์แบรนด์
ชายนิด อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เฟอร์เฟค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า
อสังหาปัจจุบันเป็นการแข่งขันของรายใหญ่กับทุนใหญ่ ซึ่งหากไม่ได้อยู่ในอันดับต้นๆ ของตลาดจะไม่มีที่ยืน หนึ่งในแผนการปรับตัว คือ การซื้อกิจการ หรือการร่วมทุน ทั้งกับในประเทศและต่างประเทศ
ที่ผ่านมานอกจากการร่วมทุนกับกลุ่มแกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ พรอพเพอร์ตี้ เพื่อเสริมทัพ ในส่วนธุรกิจโรงแรม และคอนโดระดับไฮเอนด์ ยังเดินหน้าลุยธุรกิจค้าปลีก โดยอยู่ระหว่างเจรจาหาพันธมิตรร่วมทุนกลุ่มคนไทย พัฒนาโครงการศูนย์การค้า 3 แห่ง ในศรีราชา ถนนรามอินทรา และถนนรัชดาภิเษกฯ
“ต่อไปจะมีรายได้มาจาก 3 ขา คือ บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ คอนโดมิเนียม และอสังหาฯเพื่อเช่า จากโรงแรม และศูนย์การค้าในอนาคต”
อนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า
แม้เอพีจะอยู่ในตลาดมานาน 25 ปี แต่การรักษาตำแหน่งเป็นโจทย์ที่ยาก เพราะคู่แข่งที่อยู่รายล้อม
“ในอดีตโตด้วยการกินส่วนแบ่งตลาดของรายเล็ก แต่ปัจจุบันเป็นยุครายใหญ่สู้กันเอง บนฐานทุน ความเชี่ยวชาญ และเทคโนโลยี ที่แทบไม่แตกต่างกัน”
โดยถือโอกาสครบรอบ25ปี ปรับโครงสร้างองค์กรรอบใหม่ แยกทีมการบริหารเป็นรายสินค้า เป็น “หน่วยธุรกิจ” ประกอบด้วย บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ คอนโด เพื่อลดขั้นตอนการสั่งการ
จัดตั้งทีมบริหารหลังการขายใหม่ ภายใต้การนำแนวคิดของธุรกิจโรงแรมมาใช้ ด้วยการรวมฝ่ายคอลเซ็นเตอร์ ฝ่ายบริหารจัดการอาคารและหมู่บ้าน และฝ่ายซ่อมบำรุง ให้อยู่ในฝ่ายเดียวกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาให้กับลูกบ้านทันท่วงที
ปรับกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แตกต่างจากคู่แข่ง นำระบบการทำงานจากบริษัท มิตซูบิชิ เอสเตท กรุ๊ป ซึ่งเป็นพันธมิตรผู้ร่วมทุนจากญี่ปุ่นมาปรับใช้อย่างจริงจัง
ด้าน โอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า
ธุรกิจอสังหามีความหลากหลายไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ต้องปรับตัวให้ทัน โดยโครงการเปิดใหม่ เน้นขยายมาในทำเลกลางเมืองมากขึ้น พัฒนาสินค้าระดับบนเพิ่มขึ้น เจาะกลุ่มลูกค้ามีรายได้สูงขึ้น จากเดิมที่มุ่งเน้นเฉพาะตลาดคอนโดฯกลาง-ล่าง ในทำเลรอบนอก ซึ่งที่ผ่านมาประสบปัญหาลูกค้าถูกปฏิเสธสินเชื่อบางโครงการสูงถึง 50% รวมทั้ง ลดขนาดพัฒนาโครงการเล็กลง ให้เหมาะสมกับสภาวะตลาด จากเดิมเน้นทำโครงการขนาดใหญ่