กรมเจ้าท่าสานฝันนโยบายเปิดเดินเรือเฟอรี่เชื่อมอ่าวไทยฝั่งตะวันออก-ตะวันตก หน้าใหม่คว้าสัญญา 10 ปี ปาดหน้ากลุ่มทุนใหญ่ ประเดิมเรือโดยสารเส้นทางพัทยา-หัวหิน 113 กม. ย่นเวลาเดินทางเหลือ 1 ชม. 40 นาที ดีเดย์ 1 ม.ค. 60 เจาะลูกค้าจีน ด้าน "สยามอีสเทิร์นโลจิสติกส์" ลุยต่อเมกะโปรเจ็กต์ 1.5 หมื่นล้าน เดินเรือท่องเที่ยว "บางปู-พัทยา-ปราณบุรี" ขนทั้งคนและรถยนต์ คิกออฟปี′61
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายให้เดินเรือเฟอรี่เชื่อมทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออกกับตะวันตก (East-West Ferry) เพื่อย่นเวลาการเดินทางและส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ ล่าสุดกรมเจ้าท่าได้คัดเลือกเอกชนมาดำเนินการเส้นทางพัทยา-หัวหิน แล้วจะเปิดเดินเรือ 1 ม.ค. 2560
"เอกชนเสนอโครงการให้กรมเจ้าท่าได้ลงพื้นที่ไปดูแล้ว จะเป็นเรือโดยสารเท่านั้น และขอใช้ท่าเรือของทางราชการ จอดที่ท่าเรือแหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา กับท่าเรือสะพานปลาที่หัวหิน เบื้องต้นมีเรือบริการ 2 ลำ วันละ 2 เที่ยว ช่วงเช้าและเย็น นำเรือมาวิ่งบริการก่อน 1 ลำ อีก 1 ลำอยู่ระหว่างปรับปรุงที่เมืองจีน แต่ละลำบรรทุกผู้โดยสารได้ 200 คน/เที่ยว"
ทั้งนี้ การเดินเรือเฟอรี่ที่สมบูรณ์ต้องขนทั้งคนและรถ ระยะต่อไปจะลงทุนสร้างท่าเรือใหม่ที่บริเวณปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ รวมถึงขยายเส้นทางจากพัทยา-บางปู และบางปู-หัวหิน
นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า ได้คัดเลือก บจ.รอยัล พาสเสนเจอร์ ไลเนอร์ ผู้ประกอบการธุรกิจทัวร์และโรงแรมใน จ.ชลบุรี เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตเรือกลเดินประจำทางขนส่งผู้โดยสารหรือสินค้า ในเส้นทางฝั่งตะวันออก (พัทยา-สัตหีบ) กับฝั่งตะวันตก (ชะอำ-หัวหิน-ปราณบุรี) เป็นเวลา 10 ปี
โดยระยะที่ 1 เดินเรือโดยสารเส้นทางพัทยา-หัวหิน เป็นเรือโดยสาร Catamaran Ferry จำนวน 2 ลำบรรทุกผู้โดยสารได้ 150 คน และ 262 คน ใช้เวลาเดินทาง 1 ชม. 40 นาที ภายในเดือนม.ค.เริ่มเดินเรือวันละ 2 เที่ยวจากหัวหิน-พัทยา 113 กม. เรือออกเวลา 08.30-09.40 น. และ พัทยา-หัวหิน เวลา 15.30-16.40 น. ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม จะวิ่งทดสอบปลายเดือน ธ.ค.นี้ จะใช้เวลาเดินทาง เร็วกว่ารถยนต์ที่ใช้เวลา 5-6 ชม. ซึ่งบริษัท ต้องเร่งรัดยื่นขออนุญาตใช้เรือเพื่อประกอบการออกใบอนุญาตและกำหนดอัตราค่าโดยสารต่อไป ส่วนระยะที่ 2 เรือโดยสารและรถยนต์ ทางบริษัทกำลังนำเสนอท่าเรือที่เหมาะสม
"กรมเปิดประกาศทางเว็บไซต์ และมีเอกชนรายเดียวเสนอโครงการ หลังตรวจเอกสารหลักฐาน เห็นควรได้รับคัดเลือก ประกาศผล 30 ก.ย. ที่ผ่านมาบริษัทเสนออัตราค่าโดยสาร 1,200 บาท/คน/เที่ยว เน้นลูกค้าทัวร์จากจีน ซึ่งเป็นการลงทุนของเอกชน กรมแค่ออกใบอนุญาตและควบคุมค่าโดยสาร"
ด้านแหล่งข่าวจากวงการเดินเรือเปิดเผยว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์กรณีกรมเจ้าท่าคัดเลือกผู้ประกอบการดำเนินโครงการนี้ เนื่องจากเรือที่จะนำมาให้บริการเป็นเรือเก่าและมีขนาดเล็ก ทำความเร็ว 50 กม./ชม. และต้องใช้เวลาเดินทาง 3-4 ชม. อีกทั้งท่าเรือที่ใช้จอดนั้นก็คับแคบ
ขณะที่นายพีรพงศ์ ประสพสุขเจริญ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาและวางแผน บจ.สยามอีสเทิร์นอินดัสเตรียลพาร์ค (SEP) กล่าวว่า สาเหตุที่บริษัทไม่ยื่นข้อเสนอเนื่องจากระยะเวลาดำเนินการ 10 ปีสั้นเกินไป อีกทั้งการต่อเรือใหม่ต้องใช้เวลา 1 ปี จึงนำมาเปิดบริการได้ ทั้งนี้กลุ่มบริษัทมีแผนลงทุนพัฒนาเส้นทางเดินเรือเฟอรี่ 3 เส้นทาง ได้แก่ พัทยา-หัวหิน, บางปู-พัทยา และบางปู-หัวหิน ใช้เงินลงทุน 15,040 ล้านบาท แยกเป็นสร้างท่าเรือเฟอรี่ใหม่ 3 ท่า ที่บางปู จ.สมุทรปราการ, บ้านอำเภอ พัทยา จ.ชลบุรี และปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ วงเงิน 9,048 ล้านบาท และซื้อเรือเฟอรี่ 4 ลำ ขนาด 45 นอต รองรับผู้โดยสารได้ 400 คน รถยนต์ 30 คัน และรถจักรยานยนต์ 12 คัน ความเร็ว 80 กม./ชม. วงเงิน 6,000 ล้านบาท
"แผนพัฒนาของเราคนละแบบกับเอกชนที่ได้งาน ของเขาเน้นผู้โดยสารอย่างเดียว ส่วนของเราเน้นทั้งผู้โดยสารและรถยนต์ เราเคยเสนอรายละเอียดโครงการไปที่กรมเจ้าท่าแล้ว หลังศึกษาความเป็นไปได้โครงการกว่า 3 ปี ปัจจุบันยังเดินหน้าโครงการตามมาสเตอร์แพลนที่วางไว้ กำลังปรับปรุงถนนและทางเข้าเพื่อสร้างท่าเรือบางปู บนที่ดิน 300 ไร่ แต่ใช้สร้างท่าเรือ 10 ไร่ ที่เหลือจะพัฒนาเฟสต่อไป"
โครงการจะเริ่มดำเนินการได้ไตรมาส 1 และ 2 ปี 2561 เพราะการสร้างท่าเรือและซื้อเรือใช้เวลา 2 ปี คาดว่าจะเดินเรือวันละ 16 เที่ยว ระหว่างพัทยา-ปราณบุรี และวันละ 20 เที่ยว ระหว่างปราณบุรี-บางปู-พัทยา มีผู้โดยสาร 2.8 ล้านคน/ปี ค่าโดยสาร 1,000 บาท/คน/เที่ยว รถยนต์ 3,000 บาท/คัน/เที่ยว