สืบเนื่องมาจากข่าวเกี่ยวกับการจับกุมคนที่ทำเบียร์ขายเมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งค่อนข้างเป็นข่าวฮือฮาในวงการเบียร์บ้านเรา
แอดมินขออนุญาตนำเสนอเกร็ดความรู้เบื้องต้น เกี่ยวกับกฏหมายในการทำเบียร์
ซึ่งเขียนแปะกันทั่วไปใน Facebook เกี่ยวกับกลุ่มคนที่ชอบเบียร์
เข้าใจว่ามาจากคุณ Artid Sivahansaphan และ เรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับการทำเบียร์ จากเพจ “จะดีเสียก็เบียร์กู”
ซึ่งเขียนไว้ได้ดีมากและเข้าใจง่ายมาก มาแชร์ให้เพื่อนๆได้อ่านกัน
ส่วนตัวแอดมินมองว่าเจ้าหน้าที่สรรพสามิตรและตำรวจเค้าก็ทำถูกต้องตามหน้าที่ของเค้า
แต่ดูจากสีหน้าของเจ้าหน้าที่ในภาพข่าวแล้ว
แอดมินว่าเจ้าหน้าที่ก็คงมีอารมณ์อยากชิมเบียร์ที่เค้าปรุงบ้างแหละน่า (ใช่มะใช่มะ)
หรือจริงๆแล้วกฏหมายไทยควรจะเอื้อให้การทำเบียร์กินเองหรือขาย เป็นเรื่องที่ไม่ผิดกฏหมายกันแน่ครับ
จริงๆ เท่าที่ผมเคยลองชิม craft beer ในบ้านเรามาบ้าง พบว่ามีหลายเจ้าทำได้ดีเลย แต่มีอีกหลายเจ้าเป็นจำนวนมากกว่าที่ยังต้องปรับปรุงอีกหลายๆด้าน
อย่างไรก็ดี ผมเห็นว่าเราควรจะมีทางเลือกในการดื่มเบียร์ มากกว่าเบียร์ที่มีอยู่ในร้านสะดวกซื้อ
ผมจึงสนับสนุนให้การผลิต craft beer ไทย เป็นเรื่องถูกกฏหมายง่ายกว่าเงื่อนไขเดิมที่เป็นอยู่ครับ สุดท้ายหากเห็นด้วยผมขออนุญาตฝาก link ใน change.org ที่มีคนได้ทำขึ้นไว้แล้วเกี่ยวกับเรื่องนี้ละกันครับ
#ผมชอบเบียร์
บทความจากคุณ Artid Sivahansaphan
"ก็อปมาจ้าา เครดิตด้านล่าง #ผมชอบเบียร์
เห็นข้อมูลเรื่องกฏหมายการทำเบียร์ที่โพสข้างล่างเขียนไป ขอถือวิสาสะเขียนอธิบายคร่าวๆนะครับ จะได้ไม่เข้าใจผิดกัน
ประเทศไทยอนุญาตให้ทำเบียร์ได้ถูกกฏหมายได้แค่ 2 แบบ
แบบแรกคือ ทำ brewpub นึกภาพไม่ออกให้นึกถึงโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงเข้าไว้ครับ นั่นล่ะ brewpub ประเภทนี้ประเทศเรากำหนดให้มีกำลังการผลิตขั้นต่ำ 1 แสนลิตรต่อปี แต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี รายละเอียดปลีกย่อยยั้วเยี้ยขอข้ามไป ไอ้ประเภทว่าห้ามบรรจุขวด ห้ามใส่โถใส่ถังเอาไปจำหน่ายนอกร้าน ก็บังคับใช้กับบริวผับบ้านเรา อยากดื่ม ดื่มได้แค่ในร้าน
แบบที่สองคือ โรงเบียร์ขนาดใหญ่ ต้องมีกำลังการผลิตอย่างน้อย 10 ล้านลิตรต่อปี จำนวนมหาศาลขนาดนี้ นึกถึงพวกสิงห์ช้างไปเลย
ดังนั้นบ้านเราจึงไม่มีที่ว่างให้ microbrewery ขนาดเล็กครับ บางประเทศกำหนดแค่ 2 หมื่นลิตรต่อปีก็ทำได้แล้ว แต่ประเทศเรา 10 ล้านลิตรครับ อ้วกแตกกันไป อยากต้มเบียร์เป็นบริวผับยังต้องทำ 1 แสนลิตรขั้นต่ำ มหาศาลมากๆครับ
ส่วนคราฟต์เบียร์ไทยที่ทุกท่านดื่มกันทุกวันนี้ ร้อยละ 80 % คือของผิดกฏหมายครับ เพราะการทำ homebrew เป็นสิ่งผิดกฏหมายในประเทศนี้ ถ้าต้มเฉยๆโดนปรับ ต้มแล้วขายปรับหนักกว่า คราฟต์เบียร์ไทยที่ทุกท่านดื่มทุกวันนี้ ตัวไหนไม่มีสแตมป์แปะ มันคือของเถื่อนครับ
ไอ้อีก 20 % ที่เหลือคือคนทำคราฟต์เบียร์ไทยที่ต้องถ่อไปต้มเบียร์ที่ต่างประเทศครับ แล้วค่อยนำเข้ามาขายอย่างถูกกฏหมาย ติดสแตมป์ ทำเรื่องนำเข้า เสียภาษีมหาโหด พวก sandport / happy new beer / มหานคร / stone head พวกนี้คืออดีตของเถื่อนที่ไปทำแบบถูกกฏหมายแล้ว
ส่วนfullmoon ที่ทำชาละวันกับชาตรีนั้น เป็นบริวผับที่ภูเก็ต แต่เขาก็ไปต้มที่ต่างประเทศเช่นกัน แล้วนำเข้าไอ้ชาละวันกับชาตรีเข้ามาขายนี่ล่ะ ไม่ได้แปลว่าเขาเอาเบียร์ในบริวผับของเขามาบรรจุขวดนะครับ บริวผับกับตัวที่ต้มนอกเป็นคนละส่วนกัน
ส่วนร้านขายคราฟต์เบียร์ไทยที่เราๆรู้จักกัน ที่ฮิตๆกัน ผิดกฏหมายหมดครับ ทั้ง let the boy die นี่ก็ผิดกฏหมาย โดนจับโดนบุกร้านกันมาหลายรอบแล้ว ร้านชิตเบียร์ก็ผิดกฏหมาย โดนจับมาหลายรอบแล้วเช่นกัน
ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าสิ่งที่พวกเขาทำ สิ่งที่พวกเราดื่ม เป็นเรื่องชั่วช้านะครับ เราอยู่ในสนามที่ไม่แฟร์ กฏกติกาเอื้อแต่รายใหญ่ บีบให้รายเล็กๆต้องดิ้นรนหาวิธี หาทางออก เพื่อให้เราได้ดื่มเบียร์ทางเลือกกัน
ขอบคุณพี่ Artid Sivahansaphan ที่เรียบเรียงข้อมูลค่ะ ขออนุญาตเอามาแปะ"
#มิตรสหายท่านหนึ่ง
บทความจากเพจ “จะดีเสียก็เบียร์กู”
ควันหลงการจับกุม
นอกเหนือจากประเด็นทางกฎหมายที่หลายเพจได้กล่าวถึงไปแล้ว ผมเลยนึกถึงเรื่องราวพื้นฐานง่ายๆ เกี่ยวกับเบียร์ที่มักเอาไว้สื่อสารกับเพื่อนๆ หลายคน
- เบียร์ประกอบขึ้นจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ คือ น้ำ ธัญพืช (ข้าวต่างๆ) ดอกจากต้นฮ็อป และยีสต์ และอาจประกอบด้วยเครื่องเทศ หรือสารปรุงกลิ่นต่างๆ ตามแต่จินตนาการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอาหารที่เรากินอยู่ในชีวิตประจำวัน
- หลักการของเบียร์เรียบง่ายเช่นเดียวกับสุราหมักทั่วโลก คือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่อุดมไปด้วยสารอาหารของยีสต์ (ในที่นี้คือน้ำตาลที่สกัดมาจากแป้งในธัญพืช) จากนั้นปล่อยให้ยีสต์ดำรงชีพในสภาพแวดล้อมนั้น และเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นแอลกอฮอล์ที่กินได้
- นักต้มเบียร์หรือ Brewer เปรียบก็คือสถาปนิก+ผู้รับเหมา ในการสร้างสภาพแวดล้อมให้กับยีสต์
- การสร้างสภาพแวดล้อมก่อนเป็นเบียร์นั้น ต้องสะอาดให้มากถึงมากที่สุด เพื่อป้องกันยีสต์อื่นๆ และแบคทีเรียในธรรมชาติมาแย่งอาหารยีสต์ที่เราคัดเลือกไว้ เพราะจะทำให้เบียร์มีกลิ่นหรือรสจากยีสต์อื่นที่เราไม่ต้องการ ดังนั้นทุกกระบวนการทำเบียร์จึงต้องสะอาดที่สุด และมีการ Sanitize เกือบทุกขั้นตอน ด้วยวิธีต่างๆ ทั้งการใช้สารเคมี การใช้ความร้อน ฯลฯ
- นอกจากนั้น หลังหมักเป็นเบียร์แล้ว สภาวะแอลกอฮอล์ และเป็นกรดอ่อนๆ ยังคอยปกป้องการเติบโตของเชื้อยีสต์และแบคทีเรียอื่นๆ ในยุโรปยุคหนึ่งจึงดื่มเบียร์แทนน้ำเปล่า เพราะนอกจากจะมีรสชาติ และคลายเครียด ยังการันตีถึงความสะอาดกว่าน้ำเปล่า ที่มักปนเปื้อนเชื้อโรคมากกว่า
- ทุกๆ คนสามารถทำเบียร์เองได้ ง่ายพอๆ กับการทำขนมเค้ก หรือก๋วยเตี๋ยวน้ำ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักเคมี หรือนักวิทยาศาสตร์ เปิดอินเทอร์เน็ตทุกวันนี้มีวิธีมากมาย รวมทั้งมีผู้คิดค้นเครื่องผลิตเบียร์แบบสำเร็จรูปมาจำหน่ายในบ้านเราแล้วด้วยซ้ำ
- การทำเบียร์เองทุกวันนี้ ใช้อุปกรณ์ที่หาได้ในประเทศไทยแทบทุกอย่าง ถ้าถามว่าเริ่มต้นใช้เงินเท่าไร อุปกรณ์อะไรบ้าง ผมมักแนะให้คำนวณและจินตนาการคร่าวๆ ว่า เราจะทำก๋วยเตี๋ยวน้ำกินเองที่บ้านสักหม้อหนึ่งต้องลงทุนอะไรบ้าง แล้วบวกเพิ่มอีก 1,000 -2,000 เพื่ออุปกรณ์เฉพาะทางบางอย่าง เช่น ระบบทำความเย็น หรือกระติกน้ำแข็ง
- ตามเว็บไซต์ไทย มีคนนำเข้าอุปกรณ์และวัตถุดิบ Homebrew จำหน่ายปลีกแล้วมากมาย
- การทำเบียร์เอง เปิดโอกาสให้เราได้คัดสรรวัตถุดิบที่ดีที่สุดได้เอง ซึ่งแน่นอน เราคงไม่ใส่สารเคมีอันตรายลงไป และต่อให้ใส่ลงไป เบียร์ก็อาจได้กลิ่นหรือรสที่ผิดเพี้ยนจนไม่อาจดื่มได้ ประสาทสัมผัสจะบอกเราเอง
- Homebrew หรือเบียร์บ้าน เปิดโอกาสให้เราสร้างสรรค์เบียร์ที่เราอยากดื่มได้ไม่จำกัด หรือมีเพียงหนึ่งเดียวในโลกได้ แบบสำรวจล่าสุดของนิตยสาร Craft beer and Brewing Magazine ระบุคำถามว่า “ถ้าต้องเลือกดื่มเบียร์ยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งตลอดชีวิต จะเลือกยี่ห้ออะไร” น่าตลกที่ผู้อ่านมากกว่า 90% ตอบว่า “My Homebrew Beer”
- สิ่งที่ยากที่สุดในการทำเบียร์ คือ การเริ่มต้น “ลงมือ” ทำ และเบียร์ทำเองที่อร่อยที่สุดคือเบียร์แบชแรก
- ทั้งเบียร์ทำเองและสุราพื้นบ้าน มักถูกโจมตีถึงความไม่สะอาด สกปรก แบบเดียวกับอุตสาหกรรมอาหารโจมตีผักผลไม้พื้นบ้าน และอาหารจากภูมิปัญญาเก่าแก่ คำถามคือ กลับกันทำไมเราจึงเชื่อว่าเบียร์ Commercial สะอาด
- ลองคิดถึงดินแดนที่การชงกาแฟหรือชาเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ทางเลือกเดียวคือซื้อชาเขียวหรือกาแฟกระป๋อง (ปลอมๆ) ในเซเว่นดื่ม
- Homebrew ไม่ใช่แค่การทำเบียร์เองที่บ้าน แต่หมายถึงสิทธิและเสรีภาพในทางเลือกของชีวิต
#ผมก็ชอบเบียร์ #แต่ผมรักเมีย