เมื่อเร็ว ๆ นี้ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์จัดทริปเชิญสื่อมวลชนหลากมีเดียดูงานโปรเจ็กต์สมาร์ทซิตี้ต้นแบบจากประเทศญี่ปุ่น "คาชิวะ-โน-ฮา สมาร์ทซิตี้" (Kashiwa-No-ha Smart City)
โดยซีอีโออนันดาฯ "โก้-ชานนท์ เรืองกฤตยา" ตอบคำถามแรกว่า ถ้ามีสมาร์ทซิตี้แบบเดียวกันนี้ในเมืองไทย เขาเป็นคนแรกที่จะขอเข้าไปอยู่ในโครงการ
เมืองใหม่ 300 เอเคอร์
เหตุผลที่เลือกดูงานสมาร์ทซิตี้โครงการคาชิวะ-โน-ฮา เพราะเจ้าของโครงการ คือ กลุ่มมิตซุย ฟุโดซังกรุ๊ป
และมิตซุย ฟุโดซัง ปัจจุบันมีสถานะเป็นพันธมิตรร่วมทุนที่แข็งแกร่งของอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ล่าสุด ให้ความสนิทสนมและไว้วางใจถึงขนาดมีผู้บริหารญี่ปุ่น"โตโม นากามูระ" เข้ามานั่งเป็นบอร์ดบริหารให้กับอนันดาฯ
รายละเอียดโปรเจ็กต์ตั้งอยู่ในเมืองคาชิวะ จังหวัดชิบะ แผนพัฒนาระยะยาวระหว่างปี 2548-2573 โดยเฟสแรกปี 2548-2557 บรรลุความสำเร็จในการเปลี่ยน "พื้นที่" 13 เอเคอร์ให้เป็นสมาร์ทซิตี้ มีพนักงาน (ลูกจ้าง) 1,000 คน ผู้พักอาศัย 5,000 คนเฟสแรกมูลค่าลงทุน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ประมาณ 35,000 ล้านบาท
ปัจจุบันก้าวเข้าสู่แผนพัฒนาเฟส 2 จากพื้นที่ทั้งหมด 300 เอเคอร์หรือเกือบ 2,000 ไร่ คิดเป็นพื้นที่พัฒนา 3 ล้านตารางเมตร มีเป้าหมายในการเปลี่ยน "เมือง" ทั้งหมดให้เป็นสมาร์ทซิตี้ เป้าหมายมีผู้พักอาศัย 26,000 คน คนงาน 15,000 คน นักท่องเที่ยวอีก 10 ล้านคน/ปี
สิ่งแวดล้อม-สุขภาพ-อายุยืน
วิสัยทัศน์โครงการคือ "Create Vision of The Future" ตั้งห่างโตเกียว 25 กม. เทียบเท่าโตเกียวห่างจากโยโกฮามา ใช้เวลาเดินทางจากโตเกียว 30 นาที จากสนามบิน 58 นาที
การใช้ประโยชน์ที่ดินดั้งเดิม ทำเลนี้เป็นสถานที่เลี้ยงม้าของกองทัพ เมื่อ 100 ปีที่แล้ว บรรพบุรุษมิตซุย ฟูโดซัง กรุ๊ปได้ซื้อที่ดินทำเลนี้ไว้ ทำสนามกอล์ฟอายุ 40 ปี เมื่อทราบว่ามีรถไฟฟ้าเส้นใหม่ "Tsukuba" พาดผ่านจึงทำการปิดสนามกอล์ฟ
ตัวจุดประกายโครงการเกิดจากแนวคิดในญี่ปุ่นมีความเจริญก้าวหน้าที่รวดเร็วทำให้เผชิญปัญหาต่าง ๆ มากขึ้น อาทิ สิ่งแวดล้อม สังคมผู้สูงวัย ฯลฯ มองว่าเป็นปัญหาทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ถ้าสามารถหาทางแก้ปัญหานี้ได้ก็เท่ากับแก้ปัญหาให้กับทั้งโลกได้
โดยมี 3 คอนเซ็ปต์ด้วยกัน 1.แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากการศึกษาตัวแบบจากทั่วโลกทำให้สรุปได้ว่าสมาร์ทซิตี้ทั่วไปจบแค่แนวคิดนี้เพียงอย่างเดียว สิ่งที่ต่อยอดคือ 2.มิตซุย ฟูโดซัง มองเรื่องสุขภาพและการมีชีวิตที่ยืนยาว และ 3.อุตสาหกรรมแนวใหม่
ดึงมหา′ลัยมีส่วนร่วม
ตัวโครงการออกแบบให้มีโรงแรม ช็อปปิ้ง ศูนย์ประชุมด้านหน้า คีย์ซักเซสดูเหมือนอยู่ที่การมีมหาวิทยาลัยโตเกียว ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงที่สุดของญี่ปุ่น แตกวิทยาเขตออกมาตั้งแคมปัสในโครงการ
จุดดูงานยังรวมถึงการบริหารจัดการด้านพลังงาน เนื่องจากมีหลายอาคารด้วยกัน เวลาไฟดับสามารถแชร์ไฟฟ้าระหว่างอาคารได้, การผลิตไฟฟ้าใช้เอง, มีสตาร์ตอัพของโรงงานต่าง ๆ อาทิ KOIL-Kashiwa-no-ha open innovation lab บริษัทมีแค่คนเดียวก็ทำได้ อาจบริษัทเล็กหรือโรงงานเล็ก, TEP หรือฟังก์ชั่นโคเวิร์กกิ้งสเปซ ฯลฯ
ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างพัฒนาพื้นที่ส่วนกลางและสาธารณูปโภคพื้นฐาน โซน Gate Square ที่เป็นไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์มีการพัฒนาไปแล้ว
โจทย์ที่ต้องทำให้เป็นเมืองเพราะถ้าพัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างเดียวตอนกลางคืนคนอยู่เต็มแต่กลางวันแทบไม่มีคนจึงต้องย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นคิดทำยังไงให้คนอยู่ทั้งกลางวันและกลางคืนนั่นคือต้องทำให้เป็นแหล่งศึกษาแหล่งจ้างงานแหล่งใช้ชีวิตประจำวัน
ตัวแบบพอร์ตแลนด์ USA
มีการออกแบบให้มีแคแร็กเตอร์แยกส่วนระหว่างที่พักอาศัยกับโอเพ่นสเปซเพื่อไม่ให้น่าเบื่อ มีอาจารย์มหา"ลัยรับผิดชอบตรงนี้ เคยมีประสบการณ์ทำสมาร์ทซิตี้ที่คนอยากเข้าไปอยู่มากที่สุด ตัวอย่าง Portland City, Oregon, USA มีคนญี่ปุ่นหลายคนเข้าไปช่วยทำมาสเตอร์แพลนพอร์ตแลนด์ซิตี้ที่รัฐโอเรกอน ใช้เวลาก่อสร้างยาวนาน สร้าง 10 ปีแล้ว เหลืออีก 15 ปีเมืองจะเสร็จสมบูรณ์
ในด้านที่พักอาศัย มีแบบคอนโดมิเนียม 3 ห้องนอน ราคา 40-50 ล้านเยน/ยูนิต เป็นระดับราคาสูงกว่าราคาตลาด 10% ขณะเดียวกันตลาดเช่าก็ได้รับความนิยมในสังคมญี่ปุ่น ค่าเช่าตกเดือนละ 1.5 แสนเยน ด้านหน้าโครงการราคาสูงกว่า 2-3 เท่า ปัจจุบันเต็มหมด 120 ครัวเรือน มีแผนสร้างเพิ่ม 500 ครัวเรือนในปีหน้า
เบื้องหลังความสำเร็จยังมาจากการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งไม่ได้ให้เป็นตัวเงิน แต่สนับสนุนในการแก้ไขผ่อนคลายกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสมาร์ทซิตี้
การใช้เวลานานทำให้สามารถสร้างเมืองที่เป็นยูนิคได้โดยไม่ใช่แค่บริษัทคิดแต่ร่วมกับสถาบันการศึกษาให้มีส่วนร่วมในการคิดและออกแบบโครงการเป้าหมายคาชิวะ-โน-ฮาสร้างเสร็จในปี2578
เช่าที่ดินรัฐทำสมาร์ทซิตี้
"โก้-ชานนท์"ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงต้นแบบสมาร์ทซิตี้ในญี่ปุ่น กับโอกาสการลงทุนในประเทศไทย
"คาชิวะ-โน-ฮา สมาร์ทซิตี้ มีหลายอย่างที่เรานำไปใช้ได้ที่เมืองไทย เราอยากทำโปรเจ็กต์ใหญ่ขนาดนี้ถ้าภาครัฐสนับสนุน อยากให้เกิดในเจเนอเรชั่น"
การผลักดันเมืองอย่างนี้เกิดได้ต้องมีภาครัฐ อาจเป็นหน่วยงานท้องถิ่นในสมุทรปราการ นนทบุรี หรือภูเก็ต พัทยา ก็น่าสนใจ อุปสรรคหลักคือผู้นำก่อน พวกเรา (เอกชน) เป็นส่วนประกอบ
"โมเดลญี่ปุ่นมีมหา"ลัยเกี่ยวข้องด้วย ฝั่งเราเป็นภาคเอกชน ถ้ารวมพลังกันผมว่าเราทำได้ ไม่มีอะไรที่ประเทศไทยทำไม่ได้ สิ่งที่ขาดจริง ๆ คือความร่วมมือกัน เช่น ที่ดินมักกะสัน ที่ดินการท่าเรือฯ ย่านคลองเตย ฯลฯ อยู่กลางเมือง เราฝันไปสิ ควรเป็นสมาร์ทซิตี้ไหม ภาคเอกชนคงไม่มีใครมีที่ดินผืนใหญ่ในกรุงเทพฯ"
ข้อคิดเห็นตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อมก็คือ รัฐมีที่ดิน ก็อยากให้นำมาประมูล
"อยากจะฝากว่าเอาของดี (สมาร์ทซิตี้) กลับบ้านไป ชวนสังคมเราคิด มาร่วมเป็นนักเรียน มาดูภาวะตลาด สังคม กลับไปคิดร่วมกัน และตั้งข้อสังเกตว่าเราจะพัฒนาประเทศชาติยังไงต่อ จะใช้ผมสร้างใช้ได้ครับ ทำให้ดีมานด์เกิดขึ้นและใช้เราด้วย"
โซลาร์เซลล์ฟีเวอร์
เรามาดูเป้าหมายของแผนพัฒนาสมาร์ทซิตี้ คาชิวะ-โน-ฮากันดีกว่า
การจัดสรรพื้นที่ตามสิ่งอำนวยความสะดวกและการใช้งาน "ปัจจุบัน" สัดส่วนใหญ่สุดเป็นที่พักอาศัย 59% พื้นที่เชิงพาณิชย์ 33% สำนักงาน, โรงแรมและหอประชุมอย่างละ 2% ที่เหลือเป็นกิจกรรมอื่น ๆ 4%
เป้าหมายในปี 2573 สัดส่วนที่อยู่อาศัยเหลือ 38% ไปเพิ่มให้กับพื้นที่เชิงพาณิชย์และสำนักงานอย่างละ 20% ส่วนค้นคว้าวิจัย 7% โรงแรมและหอประชุมเหลือ 1% และกิจกรรมอื่น ๆ 14%
โดยมีประชากรอาศัยและทำงานไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นคน มีพื้นที่อาคาร 3 ล้านตารางเมตร จำนวนตึกอีกต่างหาก เบื้องหลังสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องมีนวัตกรรมระบบพลังงานเข้ามารองรับ
จากการดูงาน เขามีแผนกที่เรียกว่า "คาชิวะ-โน-ฮา สมาร์ทซิตี้ เซ็นเตอร์" เป็นศูนย์ปฏิบัติการด้านการตรวจวัดและควบคุมการใช้พลังงานไฟฟ้าในเขตเมือง ภารกิจหลักจัดการและควบคุมพลังงานไฟฟ้าทั่วทั้งภูมิภาค (เมือง) กับจ่ายไฟฟ้าสำรองในกรณีฉุกเฉิน
KPI หรือตัวชี้วัดความสำเร็จเขาตั้งเป้าลดความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าลง 26% กับหลีกเลี่ยงการตัดไฟฟ้าในกรณีฉุกเฉิน มีการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ใช้เอง เป็นทั้งแหล่งผลิตไฟฟ้าหลักและแหล่งไฟฟ้าสำรอง
การติดตั้งโซลาร์เซลล์ทำอย่างเป็นล่ำเป็นสัน บนผนัง บนหลังคา แม้กระทั่งตามชายคาของตัวอาคาร เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างการออกแบบสมาร์ทซิตี้ ที่กำหนดคอนเซ็ปต์ไว้ว่า
ในปี 2573 คาชิวะ-โน-ฮา เป็นต้นแบบวิสัยทัศน์ใหม่ของมหานครแห่งวันพรุ่งนี้
ที่มา : prachachat
Tag :
นี่คือคอนโดที่ใกล้ "ลานชมเมืองภูเก็ต" บนเขารังมากที่สุด ทำให้คุณเห็นวิวเมืองภูเก็ตสวยๆตัดภูเขา ทะเล และท้องฟ้า ได้อย่างเต็มตา
ไม่อยากจะเชื่อว่า คอนโดที่มีค่าตัวเริ่มระดับ 7 หมื่นกลางๆ/ตร.ม. จะให้ สุขภัณฑ์อัตโนมัติ WASHLET (แบบที่ใช้ที่ญี่ปุ่นอ่ะ)
นอกจากทำเลติดถนนพระรามสี่อันโดดเด่นแล้ว ความน่าสนใจของ "The Crown Residences" แห่งนี้ ก็คือ "วิว" ที่หาได้ยากกกมว๊ากกกนี่ละ
เจ้าพ่อทำเลริมถนนเพชรเกษมนี่จะเป็นใครไปไม่ได้แล้วนอกจาก "ชัยพัฒนาที่ดิน"
"Asakan Elysium Phahol 59 Station" (อัสสกาญจน์ อีลิเซียม พหลฯ 59) จาก ASAKAN DEVELOPMENT คอนโดใกล้รถไฟฟ้าสถานีพหลโยธิน 59 เพียง 50 ม. เท่านั้น!!
'So Origin Sukhumvit 105' (โซ ออริจิ้น สุขุมวิท 105) ถ้ารู้สึกว่าชื่อมันฟังดูแล้วคุ้นๆ หูจังแหะ ใช่ครับ มันคือตัวเดียวกับ 'โซ ออริจิ้น ลาซาล' นั่นแหละ เปลี่ยนตัวห้อยท้ายนิดหน่อย (แต่ส่วนตัวแอบชอบชื่อเก่ามากกว่า)
ไหนใครกำลังจะรีไฟแนนซ์กันบ้าง ใครกำลังผ่อนบ้านอยู่เพลิน ๆ นี่ห้ามลืมเด็ดเลยนะ เพราะหนี้บ้านพอพ้น 3 ปีแรก ดอกเบี้ยจะพุ่งขึ้นแบบก้าวกระโดดเลย
วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำก็นองเต็มตลิ่ง...
ใกล้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน MRT พระราม 9 ประมาณ 420 ม. เป็นรถไฟฟ้าสายสำคัญวิ่งเป็น Loop เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายอื่นมากมาย จะไปไหนก็ง่ายดาย
‘ภูมิสถาปนิค‘ ท่านหนึ่งบอกกับผมว่า “Lanscape โครงการนี้สวยที่สุดเท่าที่เคยเจอมา ไม่มีที่ไหนใกล้เคียงความเป็น ‘สวนแบบ Classic’ ที่เป็น ‘quite luxury’ ได้เท่านี้แล้ว“
เฮ้ย! เนื้อที่ดีมันเป็นแบบนี้นี่เอง 5555
นูเทลล่า ทำมาจากถั่วเฮเซลนัท และ ช็อคโกแล็ต ช็อคโกแล็ตมาจากต้นโกโก้ ถั่ว และ โกโก้ = พืช พืช = ผัก กินผัก = ผอม โอเค กินเมนูนี้ได้แบบไม่รู้สึกผิดแล้ว 5555