“ชฎาทิพ” ใจถึงยกเครื่องสยามดิสคัฟเวอรี่ลบภาพศูนย์การค้า สู่ “ไลฟ์สไตล์สเปเชี่ยลตี้สโตร์” แหกกฎค้าปลีกทุกรูปแบบหวังดูดกำลังซื้อนักช็อปยุคมิลเลเนียม เผยปรับกลยุทธ์เน้นบริหารพื้นที่ผลิต นำเข้า และจำหน่ายสินค้าเอ็กซ์คูลซีพ แบรนด์ พร้อมเสริมทัพบริการทั้งเทสต์ เมคเกอร์ – กิ๊ฟท์ กูรู มั่นใจดันรายได้เพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวในปีแรก
นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า
บริษัทพร้อมเปิดให้บริการสยามดิสคัฟเวอรี่ในไตรมาส 2 นี้ หลังจากที่ปิดปรับปรุงครั้งใหญ่เมื่อต้นปี 2558
โดยใช้เงินลงทุนกว่า 4 พันล้านบาท ในการเนรมิตพลิกโฉมสยามดิสคัฟเวอรี่ในรูปแบบใหม่ ภายใต้คอนเซปท์ “ไลฟ์สไตล์สเปเชี่ยลตี้สโตร์”
รวมสินค้าและบริการ เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตแบบไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุคมิลเลเนียม ซึ่งให้ความสนใจในเรื่องของนวัตกรรม (Innovation & Digital) ด้านต่างๆ
ขณะเดียวกันก็ต้องการบอกเล่าเรื่องราว (Story Telling) ที่เกิดจากการคิดสร้างสรรค์ ของตนเองและชุมชน (Interactive Creative Community) รวมถึงประสบการณ์ (Experience) ที่พบมา
และยังคงต้องใช้ชีวิตความเป็นส่วนตัว และมีจุดยืนที่แตกต่าง และปรับเปลี่ยนตามสังคมที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำมารวมไว้ในสยามดิสคัฟเวอรี่
“นับจากนี้สยามดิสคัฟเวอรี่จะไม่ใช่ศูนย์การค้าอีกต่อไป แต่จะเป็นไลฟ์สไตล์สเปเชี่ยลตี้สโตร์ ที่รวมสินค้าทุกความต้องการของผู้บริโภคทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะยุคมิลเลเนียม ซึ่งบริษัทให้ความสำคัญกับการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างเข้มข้น เพื่อให้เข้าถึงความต้องการอย่างแท้จริง ก่อนที่จะนำมาเติมไว้ในสยามดิสคัฟเวอรี่เพื่อให้สามารถตอบสนองได้อย่างลงตัว”
ภาพใหม่ของสยามดิสคัฟเวอรี่นี้ จะเป็นการแหกกฎเกณฑ์ในการทำธุรกิจค้าปลีกทุกอย่าง
โดยจะเป็นเหมือนร้านค้าขนาดใหญ่ร้านเดียว แต่รวมสินค้าทุกอย่างไว้รวมกัน ไม่แบ่งเป็นช็อป และทุกแบรนด์สินค้าซึ่งมีอยู่กว่า 5 พันแบรนด์
จะมีการจัดวางสินค้าตามประเภทและตามแบรนด์ ให้กลายเป็นการนำเสนอด้วยการผสมผสานหลายกลุ่มสินค้า ตามเรื่องราว และความสนใจของผู้คน เพื่อความสะดวกสบายและความสนุกสนานในการค้นหา
นับเป็นคอนเซ็ปต์ค้าปลีกรูปแบบใหม่ที่บุกเบิกวงการ เช่น ธีมทะเล ก็จะรวมเสื้อผ้า แอคเซสซอรี่ รองเท้า หมวก กระเป๋า ไว้รวมกัน เป็นต้น
การยกเครื่องใหม่ครั้งนี้ ถือเป็นการตอกย้ำแนวคิด ในการเป็นผู้นำด้านความคิดสร้างสรรค์ในธุรกิจค้าปลีกเมืองไทย
โดยสยามพิวรรธน์จะเริ่มต้นสร้างแบรนด์ดิ้งในรูปแบบใหม่ให้สยามดิสคัฟเวอรี่เป็นเหมือนเพื่อนสนิทที่รู้ใจลูกค้า ผ่านการทำกิจกรรมที่หลากรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการทำตลาด (Marketing) และการสื่อสาร (Communication)
โดยลูกค้าที่เข้ามาในสยามดิสคัฟเวอรี่จะได้พบกับสิ่งใหม่ๆ รูปแบบ และกิจกรรมใหม่ๆ ที่ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา สามารถโต้ตอบ เข้าถึง และมีปฏิสัมพันธ์ได้ตลอดเวลา ถือเป็นการเปิดกว้าง
นางชฎาทิพ กล่าวอีกว่า บนพื้นที่กว่า 4 หมื่นตารางเมตร อยู่ในทำเลใจกลางเมืองแหล่งช็อปปิ้งอันดับ 1 ของกรุงเทพฯ
มีพื้นที่รวมกันกว่า 2 ล้านตารางเมตร พร้อมสรรพได้ด้วยแหล่งช็อปปิ้ง อาหารการกิน งานศิลป์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ระดับโลก วัฒนธรรมและการศึกษาที่หลากหลาย
แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากกว่า 160 ล้านครั้ง
ที่นี่จึงถือเป็นโลเคชั่นที่พร้อมและสมบูรณ์แบบ ซึ่งการปรับให้สยามดิสคัฟเวอรี่เป็นไลฟ์สไตล์สเปเชี่ยลตี้สโตร์ จะเข้ามาช่วยเติมเต็มให้ย่านนี้ตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างลงตัว
อย่างไรก็ดี สยามพิวรรธน์จะทำหน้าที่บริหารพื้นที่ภายในสยามดิสคัฟเวอรี่ รวมทั้งการผลิตสินค้าออกวางจำหน่าย การนำเข้าสินค้าเพื่อวางจำหน่ายเฉพาะสยามดิสคัฟเวอรี่ (เอ็กซ์คลูซีพ แบรนด์) เท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีบริการรูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากศูนย์การค้าอื่น เช่น เทสต์ เมคเกอร์ กิ๊ฟท์ กูรู เป็นต้น ซึ่งจะมีความชำนาญเฉพาะด้าน ผ่านการอบรมเทรนนิ่งมาอย่างเต็มที่ เพื่อให้บริการได้ตามที่ลูกค้าต้องการ
ทั้งนี้หลังการเปิดให้บริการในไตรมาส 2 ปีนี้ คาดว่า จะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนคนต่อวัน
แบ่งเป็นลูกค้าคนไทย 65% และต่างชาติ 35% จากเดิมที่มีลูกค้าราว 6-7 หมื่นคนต่อวัน และทำให้สยามดิสคัฟเวอรี่ มีรายได้เพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวในปีแรก
“ที่สุดแล้วสยามดิสคัฟเวอรี่ จะเป็นศูนย์กลางแห่งการพบปะ แลกเปลี่ยน และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน ได้มาพูดคุย แบ่งปันประสบการณ์ Start Up เริ่มต้นแนวคิดสร้างธุรกิจ สร้างมิตรภาพ ก่อให้เกิดคอมมูนิตี้ของกลุ่มคนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักออกแบบ นักกีฬา นักสะสม นักอนุรักษ์นิยม และนักเดินทาง รวมถึงกลุ่มคนที่มีจิตสาธารณะได้มาร่วมสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อสังคมในหลากหลายรูปแบบอีกด้วย” นางชฎาทิพกล่าว
การบุกเบิกคอนเซ็ปต์ค้าปลีกรูปแบบใหม่นี้ นับเป็นการปฏิวัติวงการค้าปลีกครั้งยิ่งใหญ่ เป็นการตอกย้ำให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการค้าปลีกของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี และช่วยให้กรุงเทพฯ เป็นจุดหมายปลายทางของการช็อปปิ้งด้วย